สพฐ. ถกร่วมผู้ทรงคุณวุฒิ จภ. ปิ๊งไอเดียรับสมัครครูคณิต-วิทย์ พิชิตข้อสอบสมรรถนะนานาชาติ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมหารือแนวทางเตรียมความพร้อมเพื่อรับการประเมินสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ร่วมกับ ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พร้อมด้วย นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการ ผอ.สทศ. นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผอ.สบว. นางณัฐา เพชรธนู ผอ.ศูนย์ PISA สพฐ. นางสาวปฐมาภรณ์ ปันอินทร์ ผอ.ศพก. และทีมงานจาก สทศ. และ สบว. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ

โดยที่ประชุมได้สรุปสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในระดับนานาชาติ รวม 3 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์มาใช้งานในชีวิต หรือ Mathematical literacy (ความฉลาดด้านรู้คณิตศาสตร์) ทักษะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้งานในชีวิต หรือ Scientific literacy (ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์) และทักษะการอ่านรู้เรื่อง หรือ Reading literacy (ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน) รวมถึงปัญหาและสาเหตุของผลประเมินสมรรถนะสำคัญที่ยังเป็นข้อจำกัด ทั้งในส่วนของการให้ความสำคัญ การสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจของครูผู้สอน การเตรียมความพร้อม และรูปแบบของการสุ่มกลุ่มตัวอย่างในการประเมิน นอกจากนั้น ยังได้พูดคุยถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ อาทิ 1. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 2. การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหาร ครู และนักเรียน เพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาและประเมินสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของนักเรียน 3. การสร้างโอกาส ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับเครื่องมือที่ใช้ประเมินอย่างหลากหลายและต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ 4. เสนอแนะคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับรูปแบบการคัดเลือกและระบบสุ่มกลุ่มอย่างโดยใช้พื้นที่เป็นฐานเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยและนโยบาย Decentralized ให้มากขึ้น แนวทางนี้จะทำให้มีฐานการยกระดับคุณภาพการศึกษาแต่ละจังหวัดที่มากขึ้น หากผลการประเมินฯ สูงขึ้น จะทำให้ค่า HDI (Human Development Index) หรือ “ดัชนีการพัฒนามนุษย์” สูงขึ้น ซึ่ง HDI เป็นตัวบ่งชี้ ระดับการพัฒนามนุษย์ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ของ UNDP 5. เพิ่มจำนวนข้อสอบอัตนัยที่เน้นกระบวนการคิดและสมรรถนะในวิชาต่างๆ มากขึ้น และ 6. ควรกำหนดให้ผลการประเมินเป็นตัวชี้วัดศักยภาพระดับจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดร่วมสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานในระดับพื้นที่

ทั้งนี้ ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ได้ให้ข้อแนะนำถึงแนวทางการใช้ข้อสอบที่เน้นการคิดขั้นสูงที่มีลักษณะคล้ายข้อสอบ PISA ในโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงโดยใช้สถานการณ์โลกความจริงเป็นตัวกระตุ้นกระบวนการคิดแล้ว ยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับลักษณะข้อสอบในระดับนานาชาติด้วย ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ก็ได้มอบให้สำนักทดสอบทางการศึกษาจัดทำแผนและข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อนงาน ทั้งวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศในระดับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อกำหนดนโยบายให้แต่ละเขตพื้นที่ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และสะท้อนผลให้เกิดการพัฒนานักเรียนให้เต็มศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ ผ่านครู ผอ.รร. และเขตพื้นที่การศึกษา จะเป็นผลทำให้คุณภาพยกระดับทั้งประเทศไปพร้อมๆกัน

พร้อมกันนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. จึงมีแนวคิดรับสมัครครูคณิต-วิทย์ และครูที่มีความสนใจเรียนรู้การพัฒนาเครื่องมือประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนตามแนวการประเมินของ PISA เพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลการพัฒนาในระดับห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยมอบให้ศูนย์ PISA สพฐ. หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักทดสอบทางการศึกษา ดำเนินการรับสมัครครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมเป็นครูต้นแบบผู้พิชิตข้อสอบนานาชาติ และนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเห็นผลจริง เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดกระบวนการเรียนรู้ ประเมินผล โดยมี ศูนย์ PISA สพฐ. เป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มต้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 นี้ สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการได้ทางเว็บไซต์ของสำนักทดสอบทางการศึกษา เร็วๆ นี้