วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. นายวินัย รอดจ่าย รองประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 นายอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมแถลงข่าว ณ บริเวณสวนวันครู หน้าอาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การจัดประกวดหนังสือดีเด่นได้ดำเนินการเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ปัจจุบันเป็นปีที่ 51 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการกระจายหนังสือดี มีคุณภาพ และสาระประโยชน์สู่สาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้จัดพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ผู้วาดภาพประกอบ และบุคคลทั่วไปผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการผลิตหนังสือ เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญที่จะผลิตหนังสือดี มีคุณค่า มีสารประโยชน์ รวมทั้งพัฒนารูปแบบและเนื้อหาสาระให้น่าสนใจ ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชนมีหนังสืออ่านที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
การประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 เป็นการประกวดหนังสือที่ตีพิมพ์โฆษณาเป็นเล่มบริบูรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2565 ในปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 411 เรื่อง จากสำนักพิมพ์กว่า 100 แห่ง แยกเป็นกลุ่มหนังสือต่างๆ ได้แก่ หนังสือสารคดี หนังสือนวนิยาย หนังสือกวีนิพนธ์ หนังสือรวมเรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ และหนังสือสวยงาม ทั้งนี้ สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกรรมการ และนายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ
นางเกศทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำหนังสือหนึ่งเล่มนั้นต้องมีขั้นตอนที่สำคัญมากมายและมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องร่วมกันผลิตงานที่มีคุณภาพ รวมทั้งต้องใช้เวลายาวนาน ซึ่งคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้มีประสบการณ์สูง มีเกณฑ์การตัดสินและความรอบคอบอย่างมาก เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ จึงเกิดเป็นการประกวดที่ถือว่าเป็นการส่งเสริมหนังสือดี มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมการอ่าน และผู้เขียนก็มีโอกาสได้แสดงผลงานของตนเองด้วย สำหรับปีนี้ มีผู้เขียนที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา จากประสบการณ์การร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็พบว่าผู้อ่านมีจำนวนมาก และหนังสือที่มีคุณภาพก็ได้รับการตอบรับที่ดี
“ในส่วนของ สพฐ. ก็ได้ส่งเสริมให้ครู นักเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับทราบผลการประกาศรางวัลหนังสือดีเด่น และหนังสือที่มีคุณภาพ และเพื่อเพิ่มรายชื่อหนังสือดีให้ทางโรงเรียนได้รับทราบ และสร้างโอกาสในการอ่าน รวมทำกิจกรรมให้กับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านขัวแคร่ สพป.เชียงราย เขต 1 พบว่าเด็กนักเรียนสามารถต่อยอดจากหนังสือหลายๆ เล่ม โดยใช้แนวทางเนื้อหาและตัวละครเดิมจากแต่ละเรื่อง เข้ามาสร้างเนื้อหาต่อยอดเป็นผลงานเขียนของตนเอง และตั้งชื่อเรื่องใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เด็กซึ่งอยู่ชั้นประถมศึกษา เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ตลอดจนการจับประเด็นการเล่าเรื่องของเด็กๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมอย่างยิ่ง สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ที่ต้องการยกระดับการศึกษาของเยาวชนไทย ให้มีสมรรถนะที่จำเป็นอย่างเต็มตามศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
สำหรับผลการพิจารณาตัดสินรางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2566 มีหนังสือได้รับรางวัล 55 เรื่อง แบ่งเป็น รางวัลดีเด่น 14 เรื่อง รางวัลชมเชย 41 เรื่อง ดังรายชื่อต่อไปนี้
รางวัลดีเด่น
-หนังสือสารคดี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
1. เรื่อง ควอนตัม : จากแมวพิศวง…สู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์
-หนังสือสารคดี ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และชีวประวัติ
2. เรื่อง ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย
-หนังสือสารคดี ด้านการท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ
3. เรื่อง I DRAW & TRAVEL VOL. 1.1 Serendipity บังเอิญโชคดีที่ได้พบ
-หนังสือนวนิยาย
4. เรื่อง เส้นทางสายลึกลับ
-หนังสือกวีนิพนธ์
5. เรื่อง เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม
-หนังสือรวมเรื่องสั้น
6. เรื่อง เรายังยิ้มได้ ดอกไม้ยังแย้มบาน
-หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3 – 5 ปี
7. เรื่อง แมวอ้วนกับแมวผอม
-หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6 – 11 ปี
8. เรื่อง บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม (ประเภทบันเทิงคดี)
-หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี
9. เรื่อง เหมือนหั่นหัวหอม (ประเภทบันเทิงคดี)
10. เรื่อง โมงยามแห่งความสิ้นยินดี (ประเภทสารคดี)
11. เรื่อง รอยถิ่น หอมกลิ่นทุ่ง (ประเภทบทร้อยกรอง)
-หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ
12. เรื่อง ควันหลง และ หมอกขาว (ประเภทการ์ตูน และ หรือนิยายภาพทั่วไป)
13. เรื่อง สุดสาคร (ประเภทการ์ตูน และ หรือนิยายภาพสำหรับเด็ก)
-หนังสือสวยงาม
14. เรื่อง บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม (ประเภทสำหรับเด็ก)
รางวัลชมเชย 41 เรื่อง
-หนังสือสารคดี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มี 2 เรื่อง
1. ปล่อยเต่า : ทำบุญได้บาป
2. เล่าเรื่องอนุภาค อะตอม ควอร์ก เซิร์น และพระมหากรุณาธิคุณ
-หนังสือสารคดี ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และชีวประวัติ มี 3 เรื่อง
3. ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. วิถีมอญในไทย
5. ศาสตร์ ศิลป์ จิตวิญญาณ วิหารล้านนา
-หนังสือนวนิยาย มี 3 เรื่อง
6. คนจรดาบ
7. ฟ้าลิขิต : จากซัวเถาสู่สยาม
8. โลกใบเล็กของแทนชน
-หนังสือกวีนิพนธ์ มี 3 เรื่อง
9. มิปรารถนาเป็นอื่น
10. วาดชีวิตลิขิตฝัน
11. หมื่นลี้เดียวดาย
-หนังสือรวมเรื่องสั้น มี 3 เรื่อง
12. ชนปทปเทโส “มหกรรมชีวิตในชนบทประเทศ”
13. โลกบนเขาวัว
14. สู่อนาคตกาล
-หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี มี 3 เรื่อง
15. กระจกวิเศษของปุ๊บปั๊บ
16. ตะวันแจ่มใสกับดอกไม้ร่าเริง
17. พลายมะกอ
-หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี
:ประเภทบันเทิงคดี มี 3 เรื่อง
18. ผ่อผนัง อีกครั้งน่อ
19. มหัศจรรย์พรรณพฤกษ์ (อยู่วังสระปทุม 3)
20. สมุดมหัศจรรย์
:ประเภทสารคดี มี 3 เรื่อง
21. ชุดวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว เรื่อง อาหารและการย่อย
22. หนูรอบรู้ ชวนเพื่อนดูนก
23. หนูรอบรู้ ชวนเพื่อนดูแมลง
-หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี
:ประเภทบันเทิงคดี มี 2 เรื่อง
24. แค่โอบกอดตัวเองให้เป็น
25. เพราะโลกกลม สักวันหนึ่ง ความรักนั้น จะวนกลับมาหาเรา
:ประเภทสารคดี มี 3 เรื่อง
26. ป่าเหนือในลมหนาว
27. รู้ 4 สิ่งนี้ การเงินดีตลอดกาล
28. Full time job to win งานประจำทำแล้ว “มีความสุข”
:ประเภทบทร้อยกรอง มี 3 เรื่อง
29. ดอกสร้อยร้อยใจโลก
30. รัตนกานท์
31. รวมบทร้อยกรอง วิมานแมน
-หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ
:ประเภททั่วไป มี 3 เรื่อง
32. เชอร์ล็อกโฮล์มส์ ตอน แค้นพยาบาท
33. 10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI บ้านนี้หมาไม่เห่า
34. DARK HUMOUR ขำ-ขื่น
:ประเภทสำหรับเด็ก มี 1 เรื่อง
35. ผีเวียดนาม
:ประเภทปกิณกะเชิงสร้างสรรค์ มี 1 เรื่อง
36. สัมมา GRAFFITI
-หนังสือสวยงาม
:ประเภททั่วไป มี 2 เรื่อง
37. เรือนวรรณศิลป์
38. อารยะแห่งสยามประเทศ
:ประเภทสำหรับเด็ก มี 3 เรื่อง
39. นกฮูกที่ไม่เคยบิน
40. วันนี้หนูกินอะไรดีนะ
41. สมุดมหัศจรรย์
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้นำผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่นเข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัล ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
















- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” นำทีม OBEC ONE TEAM ประชุมเข้ม ดันโครงการลดภาระครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง กำหนดจุดเน้น นโยบายเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2567-68 - 28 พฤศจิกายน 2023
- สพฐ. ประชุมผู้บริหารระดับสูง ครั้งที่ 25/2566 เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต่อเนื่อง - 28 พฤศจิกายน 2023
- สพฐ. แจงกรณีครูผิดหวังไม่ได้ย้ายกลับบ้าน พร้อมเร่งช่วยเหลือไม่ให้ครูเดือดร้อน - 27 พฤศจิกายน 2023