สพท.เชียงราย รุดหน้านำร่อง เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขผ่านแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน เป็นห้องเรียนรวมวิชา

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และศึกษานิเทศก์จากหน่วยศึกษานิเทศก์พร้อมคณะทำงาน สพฐ. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินการขับเคลื่อนคุณภาพการเรียนรู้ด้วยเครือข่ายศึกษานิเทศก์และเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาร่วมพัฒนาการนิเทศการศึกษา (ผอ.หนุนเสริม) ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้กับหลักสูตรสถานศึกษา จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้เข้ารับการติดตาม ประกอบด้วย ผอ.สพม.เชียงราย รองผอ.สพป.เชียงราย เขต 1 รองผอ.สพป.เชียงราย เขต 3 ผอ.กลุ่มนิเทศฯ สพม.เชียงราย สพป.เชียงราย เขต 1-4 คณะศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารหนุนเสริม 9 โรงเรียน รองฝ่ายวิชาการโรงเรียน และคณะครู กว่า 30 คน

รองเลขาธิการ กพฐ. ได้ติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนการต่อยอด Active Learning สู่การบูรณาการแหล่งเรียน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดเชียงราย พบว่า ทุกเขตพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย มีการสำรวจแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนเป็นห้องเรียนรวมรายวิชา ศึกษานิเทศก์ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนและครูร่วมวิเคราะห์นำสู่การบูรณาการกับมาตรฐาน/ตัวชี้วัด ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้ตามหลักสูตรสถานศึกษาในรายวิชาพื้นฐาน ทุกเขตพื้นที่ กว่า 1,000  แหล่งเรียนรู้ ได้แก่ สพม.เชียงราย จำนวน 140 แหล่งเรียนรู้ สพป.เชียงราย เขต 1 จำนวน 339 แหล่งเรียนรู้ สพป.เชียงราย เขต 2 จำนวน 594 แหล่งเรียนรู้ สพป.เชียงราย เขต 3 จำนวน 139 แหล่งเรียนรู้ และสพป.เชียงราย เขต 4 จำนวน 154 แหล่งเรียนรู้ ซึ่งทุกแหล่งเรียนรู้ผ่านการวิเคราะห์ที่สามารถเป็นห้องเรียนรวมวิชาได้ อีกทั้งได้ติดตามผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนคุณภาพการเรียนรู้ด้วยเครือข่ายศึกษานิเทศก์และเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาร่วมพัฒนาการนิเทศการศึกษา  (ผอ.หนุนเสริม) ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้กับหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในการติดตามผลการดำเนินงานครั้งนี้ สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างมากโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตของจังหวัดเชียงรายมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติด้วยความเข้มแข็งของศึกษานิเทศก์ติดตาม พี่เลี้ยงพาทำอย่างใกล้ชิด และ มีกระบวนการที่ชัดเจน อีกทั้งโรงเรียนของผอ.หนุนเสริมที่เริ่มดำเนินการเป็นแบบอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆ ภายในเขตพื้นที่ สามารถดำเนินการได้อย่างน่าสนใจ ผู้อำนวยการนำคิด พาครูทำวางแผน ออกแบบร่วมกัน โดยมีการนำเสนอเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการสร้างเป็นนิทรรศการเสมือนจริงบนออนไลน์ด้วย Metaverse ที่เป็นการสร้างสื่อสมัยใหม่เข้าถึงนักเรียนได้ง่ายขึ้น รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากหน่วยงานภายนอกอีกด้วย

“ทั้งนี้ ส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ กับหลักสูตรสถานศึกษานั้นคือการบูรณาการที่ต้องเน้นนำกลับเข้าไปในรายวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรฯ ที่สามารถตอบเป้าหมายของหลักสูตรใน 3 ส่วน ทั้งมาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญ 5 ด้าน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ ส่วนรายวิชาเพิ่มเติม สำหรับเติมเต็มสิ่งที่เป็นโลกแห่งอนาคตของนักเรียน รวมถึงการวัดและประเมินผลก็มีความสำคัญ ต้องเน้นการวัดผลที่สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการแล้วลดเวลา ลดภาระงานของนักเรียนได้ ตามแนวคิด “เรียนน้อยแต่ได้มาก นำไปใช้ได้จริง ตอบโจทย์สมรรถนะและคุณลักษณะพึงประสงค์เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน” สิ่งที่ทุกโรงเรียนได้พบจากการพานักเรียนไปสถานที่จริงใกล้โรงเรียน พาปฏิบัติ พาทำ พาแลกเปลี่ยนความคิด กับปราชญ์ชุมชน ทุกโรงเรียนพบว่า นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้ และมีความอยากรู้ในสิ่งที่พาไป พร้อมทั้งสามารถสื่อสาร อธิบายให้คนอื่นเข้าใจและต่อยอดได้เป็นอย่างดี เช่น อาชีพที่ท้องถิ่นดำเนินการเรื่องสัปะรด ก็มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ผ่าน online ต่อยอดเพิ่มเติม หรือการปลูกชาบนพื้นที่สูง ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากสถานที่จริงซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างสะพานที่เข้มแข็งข้าม Gen ของปราชญ์ชุมชนและนักเรียน รวมทั้งสิ่งที่ได้พบคือ อาชีพที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้จะถูกสืบสานต่อ อย่างสร้างมูลค่า พร้อมทั้งเห็นคุณค่าได้เป็นอย่างดี” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว