ศธ. ลุยต่อ รุกปรับโครงสร้างหนี้ครูภาคเหนือ ระดมกูรูและสถาบันการเงินแก้หนี้ครู พุ่งเป้าลดหนี้จริงกว่า 4,040 ล้านบาท

วันที่ 18 มีนาคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า 4 ภูมิภาค จังหวัดพิษณุโลก ในภาคเหนือ โดยมี นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วม อาทิ นายเพชรเสฏฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงผู้บริหารสถาบันการเงิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม ณ ห้องพิษณุโลก คอนเวนชั่นเซนเตอร์ โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 มุ่งเน้นเรื่องการเร่งสร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ในภาคเหนือ ถือเป็นการนัดรวมพลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาครั้งใหญ่ในภาคเหนือ ทั้งภาคเหนือตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง รวม 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร และพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม พ.ศ. โดยตั้งเป้าหมายไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนีเพื่อลดปัญหาหนี้สินครูในภูมิภาคนี้กว่า 4,040 ล้านบาท รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินอย่างเข้มแข็ง มั่นใจข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริงจากมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย สำหรับภาคเหนือในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือครูที่มีปัญหาหนี้สินกว่า 2,698 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 4,040 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤติ 380 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 315 ล้านบาท ซึ่งจะพุ่งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้วิกฤติเป็นสำคัญเหมือนเช่นเคย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด โดยที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเจรจาขอลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จำนวนกว่า 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 ของหนี้สินครูทั้งประเทศ  นอกจากนี้ ยังได้ตั้งสถานีแก้หนี้ครูที่เข้ามาเป็นกลไกช่วยเหลือครูในระดับเขตพื้นที่อย่างทั่วถึง ฯลฯ ซึ่งได้ดำเนินการมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในภาคเหนือครั้งนี้ จึงเป็นการลงพื้นที่เพื่อตอกย้ำความเอาจริงเอาจังในการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ในเชิงรุก เพื่อช่วยให้ครูในกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินอย่างครบวงจรมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า กระบวนการดำเนินงานนี้จะช่วยลดหรือปลดหนี้ครูไทยที่มีปัญหามายาวนานได้อย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้จริง เพื่อยกระดับให้ครูไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง เป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่วิชาชีพครูให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานเป็นการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบแบบครบวงจรในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีหน่วยงานเครือข่ายที่เชี่ยวชาญเข้าร่วมจัดกิจกรรม โดยได้มีการให้บริการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนของการฟ้องร้องดำเนินคดีและการปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สำหรับลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤติและกลุ่มทั่วไป เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้มีเงินเดือนเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และควบคุมยอดหนี้ใหม่ให้ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ โดยพันธมิตรสถาบันการเงินได้มอบสิทธิพิเศษช่วยเหลือลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤติ ทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ที่เข้าร่วมงานจำนวนมาก เช่น การผ่อนชำระ พิจารณาขยายเวลาไม่เกิน 10 ปี ตั้งพักดอกเบี้ยค้างชำระ, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ 3 ปีแรก, ผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไข ยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดทั้งจำนวนดอกเบี้ยค้างชำระเป็นพิเศษ การปิดบัญชี พิจารณายกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นพิเศษ การปลดภาระหนี้ค้ำประกัน เงินต้นคงเหลือแบ่งชำระตามจำนวนผู้ค้ำประกัน, ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระให้เป็นพิเศษ เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีการบริการให้คำปรึกษาและวางแผนการกู้ยืม การออม และการลงทุน รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน จากสถาบันการเงินหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) สถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) กรมบังคับคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และพันธมิตรหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีกูรูผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและอบรมเชิงรุกเป็นพิเศษให้กับกลุ่มลูกหนี้ครูทั่วไปและครูที่ยังไม่มีหนี้ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียใหม่ในอนาคตและเป็นการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เรื้อรังมานานแบบบูรณาการและครบวงจรที่สุด

ขอบคุณภาพ / สพป.พิษณุโลก เขต 1