สพฐ. ปลื้ม  สศศ. ร่วมกับ สธ. เติมเต็มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเพิ่มพัฒนาการเด็กป่วยในโรงพยาบาล

วันที่ 29 มีนาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ณ อาคาร 10 ชั้น 9 โรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อติดตามการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษกับโรงพยาบาล ในการบูรณาการความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาและการรักษาเด็กเจ็บป่วยในโรงพยาบาล โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นางญาระตี เศรษฐบุปผา ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสมุทรปราการ นายสุชาติ บรรจงการ ผอ.โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ และคณะทำงาน ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมห้องเรียนของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลผู้รับผิดชอบโครงการ ประกอบด้วย แพทย์หญิงสมรักษ์ วงศ์สังข์ นายแพทย์เชี่ยวชาญกุมารแพทย์ แพทย์หญิงศรินยา สัมมา นายแพทย์ชำนาญการกุมารแพทย์เฉพาะทางสาขาระบบประสาทเด็ก แพทย์หญิงอัญมณี ลันโทมรัตนะ นายแพทย์ชำนาญการจิตเวชเด็กและวัยรุ่น แพทย์หญิงกนกพร สาคร นายแพทย์ชำนาญการจิตเวชเด็กและวัยรุ่น นางสุณิสา คนธรัตน์กุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ นางสาวศศิธร มูลสิงห์ นักสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลสมุทรปราการ ให้ข้อมูลดำเนินงาน

โดยครูประจำศูนย์เทคโนโลยีฯ ได้นำเสนอข้อมูลการให้บริการเด็กที่รับบริการภายในศูนย์เทคโนโลยีฯ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย 1.มูลนิธิสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอน 2.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนด้านการคิดค้นสื่อ และวิทยากรในการอบรมครูเพื่อใช้สื่อเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน 3.กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมการแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดหาสถานที่จัดตั้งและงบประมาณ และ 4.กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนครูและงบประมาณ

ในด้านการให้บริการนั้น ได้มีการแบ่งกลุ่มให้บริการเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเด็กป่วยด้วยโรคเรื้อรัง/ทั่วไป : ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคศัลยกรรมทั่วไป ไข้เลือดออก ปอดอักเสบ หอบหืด ลำไส้อักเสบ จัดการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐานในลักษณะสอนเสริมและทบทวนบทเรียนในระหว่างที่เด็กพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล สอดคล้องกับสภาพความเจ็บป่วยและการรักษาทางการแพทย์ โดยในปีการศึกษา 2565 มีเด็กเข้ารับบริการจำนวน 726 คน ส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมจำนวน 715 คน และส่งต่อเข้าเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษจำนวน 11 คน 2.กลุ่มคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น : ส่วนใหญ่เป็นเด็กในกลุ่มบุคคลออทิสติกและกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนในรูปแบบการปรับพฤติกรรม เทคนิคการเรียนการสอน โดยในปีการศึกษา 2565 มีเด็กเข้ารับบริการจำนวน 66 คน และส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมจำนวน 66 คน 3.กลุ่มคลินิกกระตุ้นพัฒนาการ : ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 6 ปี จัดการเรียนการสอนในรูปแบบการเตรียมความพร้อม โดยในปีการศึกษา 2565 มีเด็กเข้ารับบริการจำนวน 15 คน ส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมจำนวน 5 คน และส่งต่อเข้าเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษจำนวน 10 คน และ 4.กลุ่มสวัสดิการสังคมโรงพยาบาลสมุทรปราการ (เด็กที่รับบริการในศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์) : ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงและถูกทอดทิ้ง จากครอบครัวและคนใกล้ชิดในครอบครัว ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ โดยเด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา ให้บริการโดยบรรเทาผลกระทบทางด้านจิตใจร่วมกับแพทย์ จัดการเรียนการสอนทบทวนบทเรียนเพื่อให้เด็กกลับเข้ารับการศึกษาในระบบในสถานศึกษาเดิมหรือส่งต่อเข้าสู่สถานศึกษาแห่งใหม่ โดยในปีการศึกษา 2565 มีเด็กเข้ารับบริการจำนวน 1 คน ขณะนี้อยู่ในระหว่างประสานงานส่งต่อเข้าเรียนในสถานศึกษาแห่งใหม่

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมศูนย์ฯ ในวันนี้ พบว่า โรงพยาบาลมีเด็กเจ็บป่วยที่เข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก แต่มีครูประจำศูนย์การเรียนเพียง 1 คน ควรมีการประสานให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสาขาวิชาเอกการศึกษาพิเศษ หรือสาขาวิชาเอกที่เกี่ยวข้องร่วมจัดการเรียนการสอนเด็กเจ็บป่วยในโรงพยาบาล เพื่อให้มีครูช่วยดูแลจำนวนมากขึ้น และนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจากสถานที่จริงด้วย

.

“ทั้งนี้ ขอชื่นชมเครือข่ายในการดำเนินงาน ทั้งโรงพยาบาล และศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ที่มีความเข้มแข็ง ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งแพทย์ พยาบาล และครูจากศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ต่างให้ความรักและความเข้าใจ ดูแลเด็กๆ ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท รวมถึง สศศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นถึงประโยชน์ของการดำเนินงานของศูนย์ โดยให้การสนับสนุน ช่วยเหลืออย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพัฒนาการของเด็กที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือทางด้านการรักษาจากแพทย์ และการเรียนรู้แบบมีความสุขสมวัยจากครู สศศ. สพฐ. ทำให้ผู้ปกครองซาบซึ้งใจเสมือนมีที่พึ่งให้กับครอบครัว โดยผู้ปกครองของนักเรียนได้กล่าวขอบคุณและรู้สึกยินดีที่ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการเข้ามารับบริการจากศูนย์แห่งนี้ ถือได้ว่าไม่เพียงแต่ช่วยเด็กที่เจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยผู้ปกครองให้มีความอุ่นใจ และเชื่อมั่นการทำงานของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเด็กอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว