สศศ. ชัยนาท ผนึกกำลังเครือข่าย พลิกชีวิต สร้างโอกาสเด็กน้อยด้วยการศึกษายกระดับคุณภาพทั้งครอบครัว

วันที่ 26 เมษายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จ.ชัยนาท โดยมี ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดชัยนาท ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จ.ชัยนาท ผอ.โรงเรียนศึกษาพิเศษ จ.ชัยนาท และคณะ พร้อมทั้งทีมวิชาการรองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมลงพื้นที่ โดยมีแพทย์หญิงอังคณา อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร พร้อมคณะแพทย์และพยาบาลผู้รับผิดชอบโครงการ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยแพทย์หญิงอติพร จารุภวงศ์ เป็นผู้รายงานผลการดำเนินงาน และนางสาวภาวศุทธิ์ พรมขลิบนิล ครูผู้รับผิดชอบนำเยี่ยมชมห้องศูนย์การเรียนฯและนิทรรศการ

สำหรับการให้บริการเด็กที่รับบริการภายในศูนย์ฯ เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดชัยนาท และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดชัยนาท (กศน.) โดยโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรได้มีการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพในด้านการรักษา ควบคุม และป้องกันโรคธาลัสซีเมีย ด้วยตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อพัฒนาการของเยาวชนและต่อภาพรวมด้านสุขภาพในระดับชาติโดยการให้ความรู้แก่ประชาชน การตรวจคัดกรองพาหะและผู้ป่วยเพื่อวางแผนการแต่งงานและการมีบุตร การคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ และการวินิจฉัยโรคก่อนคลอด และการให้คำปรึกษาและให้ทางเลือกแก่คู่สมรสเพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งโรคอื่นๆที่มารักษาที่โรงพยาบาล ในส่วนของการศึกษาพิเศษจะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านจิตใจและร่างกาย รวมทั้งการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง จนถึงส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษา และร่วมมือกับทาง กศน. สามารถมีความรู้ในการประกอบอาชีพได้ เป็นผลทำให้ผู้ปกครองนักเรียนกล่าวชื่นชมและขอบคุณการดำเนินการของศูนย์ฯ ด้วยความซึ้งใจ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมศูนย์ฯ ว่า รู้สึกชื่นชมเครือข่ายที่เข้มแข็ง ถึงแม้ว่าศูนย์ฯ จะจัดตั้งได้ไม่นาน แต่ทุกหน่วยงานเห็นถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการบริหารจัดการชั้นเรียนและการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมในชั้นเรียนเป็นระเบียบ เรียบร้อย สะอาด เอื้อต่อปฏิบัติกิจกรรมของเด็ก เรียนรู้อย่างมีความสุข และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อครู เด็กทุกคนได้รับการดูแลจากครู ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเป็นอย่างดี โดยโรงพยาบาลได้เปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษานาน ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในศูนย์ฯ ช่วยให้เด็กทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยรักษานานและผู้ป่วยทั่วไปได้เกิดทักษะ และรู้สึกผ่อนคลาย ผ่านการทำกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติจริง เช่น การฝึกวาดภาพ และการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาตนเองจนเป็นพลเมืองที่ขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคตต่อไปได้เป็นอย่างดี

“ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ สศศ. จัดทำข้อมูลสารสนเทศเด็กที่เข้ารับบริการอย่างเป็นระบบ และติดตามการส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนา ดึงศักยภาพให้ตรงกับความถนัดและสนใจ และดำเนินการสนับสนุนเชิงรุกให้การศึกษาเข้าถึงทุกบ้านอย่างเช่น น้องสอง  ที่พบจากการออกพื้นที่ของคณะครูศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาท ครอบครัวของน้องกลัวที่จะถูกสังคมทำร้าย เนื่องจากอาศัยอยู่ร่วมกันแค่ยายและหลาน ทำให้ปิดกั้นการเข้าร่วมสังคม ทางศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดชัยนาท ร่วมกับเทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ และให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตจากการร่วมมือกันของเครือข่ายให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ เมื่อได้รับการช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาท ในการเตรียมความพร้อมด้านทักษะชีวิตที่จำเป็นของนักเรียน  เพื่อส่งต่อให้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ใน รร.ศึกษาพิเศษชัยนาท  ปัจจุบันศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยการนำของผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาพิเศษชัยนาท ในการส่งเสริมทั้งด้านการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ส่งเสริมทักษะอาชีพ โดยมีการประสานงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการช่วยเหลือครอบครัว มีกรมสรรพวุธทหารบกช่วยเหลือประชาชน สร้างห้องน้ำเพื่อให้สะดวกต่อการใช้ชีวิต และสร้างรั้วบ้านเพื่อความปลอดภัยให้กับนักเรียน นอกจากนั้นทางโรงเรียนศึกษาพิเศษชัยนาทยังได้ส่งเสริมและช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องบริการรับ-ส่ง ในการมาโรงเรียน ช่วยเหลือเมื่อครอบครัวประสบภัยต่างๆและได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การใช้ทุกโอกาสในการทำให้เด็กได้เรียนรู้และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ไม่พร้อม โดยดึงเครือข่ายมาสร้างโอกาสและอนาคตให้ทั้งครอบครัวเพื่อความเป็นอยู่ที่มีความสุขในสังคมต่อไปเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษาพิเศษ รวมถึงการให้ครูที่ศูนย์ฯ เป็นสื่อกลางในการช่วยดูแลและป้องกันเด็กที่มีโรคเรื้อรัง โดยการใช้คำพูดอธิบายให้สามารถเข้าใจได้ง่ายและนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันได้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

จากนั้น รองเลขาธิการ กพฐ. ได้เยี่ยมให้กำลังใจ ผู้บริหาร ครูและบุคลากร โรงเรียนศึกษาพิเศษชัยนาท โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท อดีตผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัดกำแพงเพชร อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชัยนาท ผอ.สศศ. ผอ.สพป.ชัยนาท ผอ.สพม.อุทัยธานี ชัยนาท ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาท ผอ.และรอง ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคระห์ 46 จังหวัดชัยนาท ผอ.และรอง ผอ.โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม ร่วมเยี่ยมโรงเรียนและพูดคุยหาแนวทางในการบูรณาการร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีคุณภาพในทุกด้านไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพบความสำเร็จที่ชัดเจนของจังหวัดชัยนาทคือความเข้มแข็งของเครือข่ายที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของจังหวัดโดยการหลอมใจรวมกัน นำไปสู่คุณภาพครบทุกด้านและบรรยากาศความเป็นครอบครัวใหญ่ที่สุขร่วมกันทั้งจังหวัด

 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้กล่าวภายหลังว่า จากการเยี่ยมโรงเรียนในวันนี้พบว่าทางโรงเรียนมีโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ศูนย์ฝึกอาชีพโรงเรียนศึกษาพิเศษชัยนาท “ปั้นดาวคาเฟ่” (ร้านกาแฟของคนพิเศษ) และร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสเด็ดของคนพิเศษ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมธาราบำบัด เป็นกิจกรรมที่ใช้ประโยชน์จากน้ำมาช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม และสร้างความผ่อนคลายให้แก่เด็ก โดยแรงลอยตัวของน้ำจะช่วยลดแรงกระแทกระหว่างการบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น และลดโอกาสในการบาดเจ็บ อุณหภูมิของน้ำที่มีความเหมาะสม (อุณหภูมิของน้ำควรสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศประมาณ 8 องศาเซลเซียส) จะช่วยให้กล้ามเนื้อของเด็กเกิดการคลายตัว ช่วยลดการหดเกร็ง ทำให้ฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมธาราบำบัดจะมีทั้งแบบกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมรายบุคคล ซึ่งโปรแกรมการฟื้นฟูของเด็กแต่ละรายจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้นักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดจะร่วมกันวางแผนกำหนดโปรแกรมการฟื้นฟูรักษา โดยสระธาราบำบัดนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากงบพัฒนาจังหวัดชัยนาท ปีงบประมาณ 2559 มีนักสหวิชาชีพและคุณครูจัดกิจกรรมธาราบำบัดให้กับนักเรียนตลอดการทำกิจกรรม และเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกได้เข้ามาใช้บริการด้วย ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาท และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จังหวัดชัยนาท

“จากการเยี่ยมชมการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่รู้สึกชื่นชม คือ คุณครูทุกคนต่างทุ่มเทพยายามดูแลนักเรียนที่มีข้อจำกัดทั้งทางร่างกายและจิตใจให้รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย รักและร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน จนนักเรียนมีคุณภาพในทุกมิติ โดยโรงเรียนมีการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งพบว่าทั้งชุมชน บ้าน วัด และโรงเรียน มีการร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพโรงเรียนลงสู่นักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งโรงเรียนยังมีแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนได้รับการปฏิบัติจริง จนเกิดเป็นทักษะงานอาชีพมากมาย เช่น ร้านกาแฟปั้นดาว ร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำ และนำผลผลิตจากการฝึกฝนด้านงานอาชีพมาจำหน่ายในร้านค้าสร้างรายได้ สร้างอาชีพอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย มีข้อจำกัดที่หลากหลาย แต่นักเรียนได้เรียนรู้งานอาชีพเหมาะสมกับตนเอง สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประกอบอาชีพได้ต่อไปในอนาคต” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว