ศธ. ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. จัดงานการสัมมนานานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันที่ 28 เมษายน 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) แถลงข่าวการจัดงาน “การสัมมนานานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ร่วมกับ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวว่า ตามที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม รัฐบาลจึงเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมูลนิธิ สอวน. กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงร่วมกันจัดการสัมมนานานาชาติ ภายใต้หัวข้อ International Conference on Mathematics and Science Education in the Post COVID-19 Era: Global Issues Awareness ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ 

“การสัมมนานานาชาติครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบ on site โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม พร้อมทั้งทรงปาฐกถาพิเศษ และทอดพระเนตรนิทรรศการทางวิชาการ เป็นโอกาสที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ไทยและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวงการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวางทั่วกัน” รมช.ศธ. กล่าว

รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. กล่าวถึงงานสัมมนาในระดับนานาชาติครั้งนี้ว่า การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID -19 ได้สร้างผลกระทบต่อการศึกษาของเยาวชนทั่วโลก โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่สามารถสร้างทักษะปฏิบัติให้ผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ มูลนิธิ สอวน. จึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในสังกัดจัดงานสัมมนาในระดับนานาชาติครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้นานาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาอันนำประโยชน์มาสู่ประชาคมโลกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกอันดีของสังคมโลกด้วย   

นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตลอดจนหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสจัดงานอันทรงเกียรติครั้งนี้ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. โดยได้ร่วมกันวางแผนงานและกิจกรรมเฉลิมฉลอง 3 ระยะ คือ ระยะสั้น – กลาง – ยาว แบ่งเป็นการเฉลิมฉลองในระดับกระทรวงและระดับภาคประชาชน ภาคเอกชนและมูลนิธิต่าง ๆ ในพระอุปถัมภ์ โดยงานสัมมนานานาชาติครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบ on site นับเป็นกิจกรรมแม่เหล็กที่คาดว่าจะดึงดูดผู้ร่วมงานทั้งในประเทศและจากนานาประเทศได้ประมาณ 500 คน สามารถส่งต่อแนวทางในการเยียวยาระบบการศึกษาหลังวิกฤตการณ์ COVID-19

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การสัมมนานานาชาติฯ ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่ระดมความคิดของนักการศึกษา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่มีต่อผลกระทบภายหลังการระบาดของโรค COVID -19 ใน 3 ประเด็นคือ 1. Talented Students ปัญหาของกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาและการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มนี้ให้สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ 2. Inclusive Education ปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่ทำให้การกระจายตัวของการศึกษาไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรค COVID – 19 ซึ่งนักเรียนบางกลุ่มไม่สามารถเรียนหนังสือได้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติการ เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ในสังคม และ 3. Digital Transformation การปิดสถานศึกษาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาการเรียนการสอนในระหว่างและหลังการระบาด ซึ่งแนวทาง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่ตกผลึกจากการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันเสริมความแข็งแรงให้ระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทย สร้างเยาวชนคุณภาพรองรับอนาคตอีกด้วย

รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผอ.สสวท. กล่าวว่า ตลอด 3 วันของงาน ได้จัดการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อที่ทันสมัย ดึงดูดความสนใจ จากประสบการณ์ของนักวิชาการชั้นนำและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก อาทิ การบรรยายงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล, การบรรยายของนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งเป็นผู้ที่พัฒนาวัคซีน mRNA ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19, รับฟังมุมมองอันแหลมคมจากนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงในเรื่องเกี่ยวกับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์, การเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิทัล พร้อมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติและการแสดงผลงานของบุคลากรทางการศึกษาอีกหลากหลาย จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่สนใจได้ติดตามการสัมมนานานาชาติครั้งนี้ไปพร้อมกัน