สพฐ. ปลื้ม ทุกภาคส่วนเพชรบูรณ์ส่งเสริมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชูคุณลักษณะ “พ่อขุนผาเมือง” ลงสู่ห้องเรียน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดงาน Kick off “หลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พ่อขุนผาเมือง” กิจกรรมโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 ณ อนุสรณ์สถานเมืองราด พ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยมี นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายอำเภอหล่มสัก ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และ ผอ.สพป.เพชรบูรณ์ เขต 2 ผอ.และ รอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา จ.เพชรบูรณ์ คณะศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร สถานศึกษา คณะครู นักเรียน เข้าร่วมงานกว่า 500 คน

พ่อขุนผาเมือง หรือ พญาผาเมือง เป็นเจ้าเมืองราด เมื่อครั้งเขมรปกครองเมืองสุโขทัย พระเจ้ากรุงกัมพูชาสถาปนาพ่อขุนผาเมืองให้เป็นเจ้าประเทศราช ประทานนามตามยศเขมรว่า “กมรเตง อัญศรี อินทรบดินทราทิตย์” และพระราชทานพระราชธิดาทรงนามว่าสิงขรมหาเทวีให้เป็นชายา โดยร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ขับไล่ขอมที่ก่อการจลาจลวุ่นวายให้ออกไปจากเมืองสุโขทัย แต่พระองค์ไม่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สุโขทัยต่อจากพระราชบิดา หากแต่ทรงมอบราชสมบัติ พระนาม พระแสงขรรค์ไชยศรีเครื่องแสดงสิทธิอำนาจให้แก่พ่อขุนบางกลางท่าว แทน เหตุเพราะทรงมีความใกล้ชิดกับทางราชสำนักขอมและมีพระชายาพระราชทานเป็นพระราชธิดาในกษัตริย์ขอม โดยพ่อขุนผาเมืองมีน้องสาวชื่อนางเสือง และพระมเหสีให้พ่อขุนบางกลางท่าว เป็นปฐมกษัตริย์องค์แรกของราชอาณาจักรไทย

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ละครประวัติศาสตร์ เรื่อง “ขบวนทัพพ่อขุนผาเมืองเสด็จเลียบกรุงสุโขทัย” โดยโรงเรียนอนุบาลหล่มสัก การมอบเอกสารหลักสูตรฯ ให้โรงเรียน โดยประธานศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา 13 ศูนย์ เป็นตัวแทนรับมอบ รวมถึงกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ความเป็นมาของเมืองราด/ประวัติพ่อขุนผาเมือง/หลักสูตรฯประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพ่อขุนผาเมือง” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สำคัญในด้านการขับเคลื่อนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อาทิ นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ นางสาวกมลฉัตร กล่อมอิ่ม รองคณะบดีฝ่ายประกันคุณภาพและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ และครูสุนัน ยาคา ครูโรงเรียนอนุบาลหล่มเก่า คณะทำงานหลักสูตรฯ และนิทรรศการ “การบูรณาการการเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่น ของดีวิถีไทหล่ม” ประกอบด้วย การทอผ้าหัวแดงตีนก่าน, ผ้ามัดย้อม (รร.บ้านวังบาล) การทอผ้าไส้ปลาไหล, อาชีพในชุมชน (รร.บ้านวังร่อง) เรียนรู้ตำนานอาหารไทหล่ม : เมี่ยงโค้น/ขนมจีนและไก่โอก (รร.บ้านฝายนาแซง) รู้จักรักษ์ถิ่นของกินไทหล่ม : ไก่ย่างข้าวเบือ (รร.บ้านบุ่งคล้า) เรียนรู้วิถีชีวิตม้ง (รร.บ้านเข็กน้อย) หลักสูตรฯ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พ่อขุนผาเมือง (สพป.พช.2- รร.บ้านส้มเลา) พร้อมด้วยกิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้ เยี่ยมโรงเรียนพ่อขุนผาเมืองอุปถัมภ์ อาทิ ต้นจำปาพันปี เจดีย์พ่อขุนผาเมือง (แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์พ่อขุนผาเมือง) การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของโรงเรียนพ่อขุนผาเมืองอุปถัมภ์ และกิจกรรมนักเรียนมัคคุเทศก์น้อยนำชมแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการจัดกิจกรรมในวันนี้ ทำให้เห็นว่าการรู้คุณค่า ตระหนัก และรักในสถาบันหลักของชาติของเพชรบูรณ์ เกิดจากการขับเคลื่อนร่วมกันที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วน ความภาคภูมิใจสำนึกในคุณูปการ ที่บรรพกษัตริย์ได้อุทิศ เสียสละ นำพาไทยให้เข้มแข็งจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่ทรงคุณค่าและสืบทอดมาให้รุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน และต่อยอดเป็นอาชีพที่ยังคงมีและเป็นวิถีของชุมชนที่อัตลักษณ์ของที่นี่ การคงวิถีวัฒนธรรมที่มีเรื่องราวถูกถ่ายทอดจากชุมชนและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ล้วนเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยความสนใจ ตั้งคำถาม ถกแถลง วิเคราะห์และไปสู่ความเข้าใจ มาพร้อมความภูมิใจ จากการร่วมกันในการจัดการเรียนรู้ของทุกภาคส่วน ให้เรียนรู้แบบไม่เบื่อ และประยุกต์ใช้ในสังคมแบบพหุวัฒนธรรมแต่ยังคงซึ่งวัฒนธรรมหลักของชุมชน สังคมและของชาติไทยไว้ซึ่งมีรูปแบบในการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ได้มีการวางแผนร่วมกันเป็นอย่างดี

“การขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จเป็นรูปธรรมนั้น จากหลักสูตรท้องถิ่นที่ร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ซึ่งมีทั้งกลอนสถานที่ และเพลงนั้น ต้องอาศัย ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องนำ พาทำ เป็นตัวอย่าง สร้างและใช้เครือข่ายที่มี เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่นักเรียนในการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในเชิงประจักษ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีทั้ง สพท. ผอ.สถานศึกษา ครู และเครือข่ายที่สำคัญจากหลายหน่วยงาน ร่วมกันขับเคลื่อนกันอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู เห็นความสำคัญของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง น่าสนใจ จากสื่อสมัยใหม่ ที่ดึงดูดให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่จากการบังคับหรือการสอนแบบท่องจำ ก็จะส่งผลให้เยาวชนได้รับการปลูกฝังและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างรอบด้านอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญของแต่ละสถานที่ที่มีเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจ แล้วเกิดแรงศรัทธาในการปฏิบัติร่วมกัน เช่น คำกลอน “แผ่นดินนี้ของกูผู้สร้างชาติ  ใครบังอาจคิดร้ายทำลายหลอน ลูกหลานกูจะไม่ยอมให้บั่นทอน แผ่นดินนอนแห่งนี้มีชื่อไทย” ซึ่งท่านดิเรก ถึงฝั่ง  ได้ประพันธ์ไว้ และ เพลงพ่อขุนผาเมือง ประพันธ์โดย ประเสริฐ สร้อยอินทร์  ขับร้องโดย ยอดรัก  สลักใจ ที่เนื้อหากล่าวถึงคุณูปการที่มีต่อชาติไทย ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นี่กว่า 800 ปี ซึ่งใช้ทั้งกาลเวลา ความกล้าหาญ ความชาญฉลาด ของบรรพบุรุษที่ลูกหลานและเยาวชนในอนาคตถือว่าได้รับมรดกที่ล้ำค่าที่มีเรื่องราว และมีที่เดียวในเมืองราด ที่ควรคงความภูมิใจไว้ตลอดไปผ่านการจัดกิจกรรมและเป็นคุณลักษณะทั้งความเสียสละ กล้าหาญ ชาญฉลาด ที่เป็นอัตลักษณ์ดีของนักเรียนเพชรบูรณ์ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว