สพฐ. ร่วมพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน 39 โรงเรียน ในพื้นที่โครงการดอยตุงฯ เสริมกำลังเครือข่าย ปฏิบัติจริงที่โรงเรียน

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมประชุมถอดบทเรียนโครงการพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ /สพฐ. /สพป.เชียงราย เขต 3) ณ ห้องประชุม VIP โครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย โดยมีกรรมการและประธานโครงการพัฒนาการศึกษา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ รอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 3 ผอ.กลุ่มนโยบายและแผน ศึกษานิเทศก์ ผอ.โรงเรียน 9 แห่งบนพื้นที่ดอยตุง ผอ.และผู้เชี่ยวชาญศูนย์พัฒนาการศึกษา โครงการพัฒนาการศึกษา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รวม 30 คน ร่วมประชุม

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโครงการพัฒนาการศึกษา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนกลุ่มดอยตุง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ตามพระราชดำริของสมเด็จย่า “ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเอง” ทั้งในด้านคุณลักษณะและทักษะที่จำเป็น อาทิ การมีจริยธรรม มีสมาธิ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ ช่างสังเกต มีจิตสำนึกที่ดี รักการเรียนรู้ แก้ไขปัญหาได้ มั่นใจในตนเอง รู้จักคิด วิเคราะห์ มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถในการบริหาร และพึ่งตนเองได้ ซึ่งในการประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ โรงเรียนมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดย โครงการพัฒนาการศึกษา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯ ที่ให้การสนับสนุน ทางด้านวิชาการ งบประมาณ และบุคลากร มีการดำเนินการพัฒนาคุณภาพในด้านต่างๆ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนปฐมวัย ในรูปแบบ Montessori การสอนแบบการใช้งานเป็นฐาน (Task based learning) การสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project based learning) และการสอนเน้นทักษะอาชีพ ซึ่งมีจุดเน้นแต่ละระดับชั้นแตกต่างกัน รวมถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการใช้ PLC ภายในสถานศึกษา โดยการนำของผู้อำนวยการโรงเรียนที่ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นพลวัตเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งโครงการพัฒนาการศึกษา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯ ได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครูได้ศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาครูย้ายออกนอกพื้นที่) ทั้งหลักสูตรฯ แผนการจัดการเรียนการสอนกลาง คู่มือ สื่อ กิจกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คลิปการสอนมอนเตสซอรี เป็นต้น

ทั้งนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยการจัดทำคณะทำงานการบูรณาการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) ฯ รวมทั้งกรอบบทบาทหน้าที่เพื่อเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนทั้งในระดับส่วนกลาง อาทิ สนก. สนผ. สวก. เป็นต้น และระดับพื้นที่ ในการพิจารณากลั่นกรองการเสนอความต้องการในการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งกิจกรรมมอนเตสซอรี, TBL, PBL, งานอาชีพ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ มีตัวชี้วัดที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนา ครอบคลุมจุดเน้นของโครงการ ฯ และหลักสูตรแกนกลางฯ พร้อมทั้งจัดกระบวนการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานจากคณะทำงานการบูรณาการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในพื้นที่โครงการดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อย่างใกล้ชิดเป็นระยะ

“นอกจากนั้น ต้องมีการหาจุดร่วมของลักษณะโรงเรียนทั้ง 39 โรงเรียน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเน้นกระบวนการนิเทศแล้ว PLC เพื่อสรุปหาทางแก้ไขร่วมกัน โดยใช้คลิปการสอนแต่ละระดับมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อการแก้ปัญหาผลกระทบที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการสร้างขวัญและกำลังใจ แนวทางการพัฒนาคุณภาพนักเรียนเพื่อเพิ่มวิทยฐานะ ให้กับผู้บริหารและคณะครู ทำให้เกิดความมุ่งมั่นคุณภาพภายในโรงเรียน ความร่วมมือเพื่อพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งคุณภาพนักเรียนเชิงประจักษ์ มีของแถมคือ วิทยฐานะจากงานในหน้าที่ของครู” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว