สพฐ. เน้นความสุขในการเรียนรู้ เพิ่มศาสตร์ดนตรีบำบัดระดับประเทศ เตรียมใช้ในโรงเรียน สศศ. เพื่อพัฒนานักเรียนรายบุคคล

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมดูงานด้านดนตรีบำบัด ณ ห้องประชุม ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ ชั้น 8 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อศึกษาและหาแนวทางในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการพัฒนานักเรียนด้วยกระบวนการทางดนตรีบำบัด รวมถึงนำหลักการของดนตรีบำบัดมาประยุกต์ใช้กับนักเรียนให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของนักเรียนที่ต้องดูแลพิเศษในแต่ละคน โดยมี ผอ.สศศ., ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และ ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยคณะศึกษาดูงาน จำนวน 20 คน เข้าร่วมด้วย

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ได้กล่าวต้อนรับ และขอบคุณ สพฐ. ที่สนับสนุนศูนย์การศึกษาเพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี จากนั้นคุณเนตรชนก สิงห์เห นักวิชาการอาชีวบำบัด (ดนตรีบำบัด) จากภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมงานโครงการนันทนาการ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของศูนย์การศึกษาเพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลและกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา และชมการถ่ายทอดสัญญาณกิจกรรมดนตรีบำบัดกับการเรียนการสอน จากผู้ป่วยศัลยกรรมเด็ก ชั้น 9 พร้อมทั้งสรุปและซักถามจากนักดนตรีบำบัด

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากข้อมูลที่นำเสนอในวันนี้ พบว่า ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เห็นความสำคัญกับการศึกษาของเด็กป่วยในโรงพยาบาลที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จึงได้มีการดำเนินศูนย์การศึกษาเพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี และมีการนำดนตรีบำบัดมาพัฒนาเด็กตาม Road Map to Success (2C2E1R) ด้วยความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนทั้งด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา และด้านดนตรีบำบัด โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือสอนให้เด็กมีความสุข โดยเฉพาะกิจกรรมการเรียนการสอนที่บูรณาการระหว่างการศึกษาและดนตรีบำบัด โดยการนำของคุณเนตรชนก สิงห์เห นักวิชาการอาชีวบำบัด (ดนตรีบำบัด) และคณะในการจัดการเรียนการสอนเรื่องการสะกดคำภาษาไทย ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะลำไส้สั้นส่งผลให้ไม่สามารถไปเรียนตามชั้นเรียนปกติได้ โดยนักดนตรีบำบัดใช้เทคนิค call and response และกระบวนการ Recreation; Singing เป้าหมายเพื่อให้นักเรียนสามารถสะกดคำภาษาไทยได้ถูกต้องอย่างน้อยร้อยละ 80 นอกจากนั้น ศูนย์เทคโนโลยีฯ ยังได้พัฒนาระบบที่ปรึกษาในโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อพัฒนาระบบคัดกรอง และวิธีการตรวจสอบความพร้อมของนักเรียนเป็นรายบุคคลผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากกิจวัตรของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับการช่วยเหลือพัฒนาได้อย่างถูกต้อง โดยมีการประเมินในมิติต่าง ๆ 6 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการอาการทางกาย 2.กลไกการปรับตัวของจิตใจ/จิตสังคม 3.การเข้าสังคมและพฤติกรรม 4.ประสิทธิภาพของการสื่อสาร 5.สติปัญญาตามพัฒนาการและการศึกษา และ 6.จิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ เด็กที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ปัญหาที่พบคือ เรื่องของสภาพจิตใจที่ต้องใช้รูปแบบการปรับสภาพให้พร้อมก่อนแล้วจัดการเรียนรู้ ทางโรงพยาบาลจึงนำวิธีการดนตรีบำบัดเข้ามาช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขและให้กำลังใจ เสริมแรงเข้าไป และที่สำคัญทางโรงพยาบาลยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมพัฒนาเฉพาะทางมาให้คำปรึกษากับเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติม เพราะกลุ่มเด็กเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์และรู้จริงในการปฏิบัติ ซึ่งมีหลายหน่วยงานของภาครัฐที่มาให้ความช่วยเหลือในการส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมา ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สังกัด สพฐ. ดังนั้น เป้าหมายหลักหรือเป้าหมายที่สำคัญของโครงการนี้คือ (Main goals): Education, Music therapy, Medical โดยการรักษาผู้ป่วยในวัยเรียนด้วยการบูรณาการบทเรียนสู่กิจกรรมดนตรีบำบัดเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กเพื่อกลับเข้าสู่ระบบการเรียนในรูปแบบปกติได้เมื่อรักษาตัวหาย โดยสามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้โดยไม่เสียโอกาสทางการศึกษา และมุ่งหวังในการพัฒนาร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม ทักษะการสื่อสาร การเรียนรู้และจิตวิญญาณ พร้อมทั้งขับเคลื่อนการช่วยเหลือและพัฒนาตามแผน IEP อย่างรอบด้าน

“จะเห็นได้ว่า การนำดนตรีบำบัดมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักเรียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่กลับพบว่าการดำเนินการเรื่องดนตรีบำบัดพบได้น้อยมากในประเทศไทย เราจึงควรร่วมกันส่งเสริมโดยหาแนวทางในการนำหลักการของดนตรีบำบัดมาประยุกต์ใช้กับนักเรียนให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของนักเรียนที่ต้องดูแลพิเศษในแต่ละคน อีกทั้งยังสามารถนำมาวิเคราะห์เด็กเพื่อเพิ่มหรือกระตุ้นการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของนักเรียนได้เป็นอย่างดี และได้ร่วมหาแนวทางในการพัฒนาบุคลากร สพฐ. ให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในด้านดนตรีบำบัด ตลอดจนขยายผลต่อยอดให้เกิดการปฏิบัติที่แพร่หลาย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เด็กนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้ร่วมจัดเตรียมพร้อมด้านบุคลากร ด้านอุปกรณ์ดนตรี เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้ด้านดนตรีบำบัดและนำไปสู่ผู้เรียนให้เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้นตามศักยภาพอย่างเต็มที่ และให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดกำแพงเพชร ประสานงานเรื่องการอบรมดนตรีบำบัด เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ให้มีความพร้อมในการนำหลักการและแนวทางในการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดมาใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการ โดยจะเป็นโครงการที่เสนอต่อกองทุนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการเพื่อขอรับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรและคุณภาพการจัดการศึกษาด้านการพัฒนาทักษะสมองด้วยดนตรี เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับโรงเรียนแห่งอื่นๆ ต่อไป ต้องขอบคุณทางภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ถือเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งที่ลงสู่เด็กนักเรียนโดยความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ตามนโนบายของ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. “No Child Left Behind” จะไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง เติมเต็มเด็กได้ครบทุกด้านอย่างมีคุณภาพ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว