สพฐ. ร่วมทีม รมช.ศธ. เยี่ยมโรงเรียนประสบภัยน้ำท่วม จ.อยุธยา

วันที่ 23 ตุลาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในโอกาสที่นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) นำทีมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ โรงเรียนวัดช่างเหล็ก (พิบูลเกียรติ) อำเภอบางไทร โรงเรียนวัดตะกู (เมตตาชนูปการ) อำเภอบางบาล และโรงเรียนวัดกระโดงทอง (พิบูลย์ประสิทธิ์) อำเภอเสนา พร้อมมอบถุงยังชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 603 ราย

โดย รมช.ศธ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่วันนี้ พบว่า มีสถานศึกษาในพื้นที่ สพป.อยุธยา เขต 2 ได้รับผลกระทบ จำนวน 18 แห่ง มีบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนได้รับผลกระทบกว่า 30 ราย จึงได้มาให้กำลังใจและมอบของใช้ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต โดยครั้งนี้เป็นการมอบของใช้ที่จำเป็นให้กับผู้ประสบภัยในเฟสที่ 1 ซึ่งจะได้มีการสำรวจเพิ่มเติมและดำเนินการในเฟสที่ 2 พร้อมมอบให้ผู้บริหารสถานศึกษาเฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ส่วนครูและนักเรียน ก็ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนในครอบครัว สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ ได้เฝ้าติดตามรายงานสถานการณ์ผ่านระบบ MOE Safety Center ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาและพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และหลังจากนี้จะได้เตรียมวางแผนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาสถานศึกษาภายหลังน้ำลด ที่จะกระทบกับการเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนให้น้อยที่สุดต่อไป

ทางด้าน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ได้สำรวจความเสียหายหลังน้ำลดโดยเฉพาะระบบความปลอดภัย และรวมไปถึงโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในภาวะน้ำท่วมก็ให้สำรวจความขาดแคลนเพื่อจะได้นำความช่วยเหลือไปสู่โรงเรียน โดยเฉพาะเรื่องการลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ และได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดย สพฐ. ได้มีการวางมาตรการเยียวยาสำหรับโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการเยียวยาระยะสั้น จะมีการติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และประสานงานแบบเรียลไทม์ มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนโดยให้เน้นความปลอดภัย มีการจัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็น รวมถึงสำรวจและซ่อมแซมอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ ให้มีความพร้อมต่อการรับสถานการณ์ พร้อมทั้งรายงานข้อมูลใน MOE Safety Center และศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

และสำหรับมาตรการเยียวยาในระยะยาว จะมีการสำรวจความเสียหายของโรงเรียนและเขตพื้นที่ฯ รวมถึงสำรวจความเสียหายของบ้านพักอาศัยของนักเรียน ครูและบุคลากรฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ เช่น ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) จิตอาสา และให้เขตพื้นที่ฯ รายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ โดย สพฐ. มีความห่วงใยสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรฯ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดของประเทศ ทั้งนี้ หากโรงเรียนหรือเขตพื้นที่ฯใดต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งมายังศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. เพื่อได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือเยียวยาต่อไป