สพฐ. แจงแค่แนวคิดประเด็นหลักสูตร เน้นย้ำสร้างคนดี มีความสุข มีคุณภาพ ต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มาจัดทำ (ร่าง) นโยบาย และจุดเน้น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 เพื่อมุ่งให้ สพฐ. เป็นองค์กรคุณภาพ สร้างคนดี มีความสุข มีคุณภาพ สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ในประเด็นเกี่ยวกับ (ร่าง) นโยบายและจุดเน้น เรื่อง การปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนรู้ให้ทันสมัย นั้น

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการในตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันไปแล้วว่า (ร่าง) นโยบายและจุดเน้น เรื่อง การปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนรู้ให้ทันสมัย นั้นเป็นฉบับร่าง ที่ยังไม่ได้ผ่านการประชุมเพื่อออกสู่สาธารณะ เป็นเพียงประเด็นที่นำเข้าสู่การประชุม และให้สำนักที่รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันระดมความคิดนำสู่การปฏิบัติได้ โดยเป็นประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน รวมทั้งต้องไม่เป็นภาระต่อครู ผู้ปกครองและนักเรียนด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่รวดเร็ว ส่งผลต่อการจัดการเรียนรู้ ความทันสมัย ความหลากหลายทั้งบริบทของพื้นที่ และความถนัด ความสนใจของนักเรียน การแสวงหาความรู้ที่ง่ายต่อการเข้าถึงองค์ความรู้ จึงเป็นจุดทึ่ทาง สพฐ. ต้องได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ ความสนใจของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การดำเนินการที่ร่วมกัน นำไปสู่การ “เน้นปรับปรุง ต่อยอด พัฒนา” เพื่อทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่ “ปรับ” อย่างเดียว แต่หมายถึง “เปลี่ยน” เพื่อมุ่งไปสู่คุณภาพ โดยไม่เพิ่มภาระให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ทั้งนี้ ในการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ ด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และจะต้องไม่เพิ่มภาระให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ตามเจตนารมณ์ นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. ด้วย

โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หลักสูตรฯ มาโดยตลอด อาทิ การทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษาครู และผู้ผลิตแบบเรียน) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการออกแบบหลักสูตรและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง สอดคล้อง เหมาะสมกับการพัฒนาผู้เรียนในปัจจุบันและอนาคต และมีการศึกษาและวิเคราะห์จุดดี จุดที่ควรพัฒนา จากผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ซึ่งเป็นการปรับเฉพาะมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ วิทยาศาสตร์และวิทยาการ และยังคงใช้การบริหารจัดการหลักสูตร ตามหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551 อย่างครบถ้วน

อีกทั้ง สพฐ. ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551 มาอย่างต่อเนื่อง ให้มีความเหมาะสม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ สังคมโลกที่เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและเน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงสมรรถนะของผู้เรียน และที่สำคัญการปรับปรุงหลักสูตรและการจัดเรียนการสอนจะต้องไม่เพิ่มภาระให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ตามเจตนารมณ์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. ด้วย จึงขอให้มั่นใจว่า สพฐ. จะดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างดี พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน “สร้างคนดี มีความสุข มีคุณภาพ” ได้อย่างแท้จริง

“ขอเน้นย้ำว่า ข้อมูลเรื่อง (ร่าง) นโยบายและจุดเน้น และ Quick Win ของ สพฐ. ที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ในขณะนี้ เป็นเพียง “ฉบับร่าง” ที่นำเข้าสู่ที่ประชุมเท่านั้น และยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดได้ โดย สพฐ. พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และจะปรับปรุงให้ดีที่สุด และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว สพฐ. จะประกาศให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป” โฆษก สพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551 ได้มีการพัฒนามาตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2551 – กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551

พ.ศ. 2552 – ปรับโครงสร้างเวลาเรียน หลักสูตรแกนกลางฯ 2551 ให้มีความยืดหยุ่น พร้อมทั้งกำหนดเวลาเรียนเฉพาะสาระประวัติศาสตร์ รวมถึงโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนที่พร้อม เริ่มใช้หลักสูตรแกนกลางฯ 2551

พ.ศ. 2553 – โรงเรียนทุกแห่งที่จัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้หลักสูตรแกนกลางฯ 2551

พ.ศ. 2557 – กำหนดให้จัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้เป็นไปตามโครงสร้างเวลาเรียนของหลักสูตรแกนกลางฯ 2551 และกำหนดให้เพิ่มวิชาหน้าที่พลเมือง เป็นรายวิชาเพิ่มเติม ในหลักสูตรแกนกลางฯ 2551

พ.ศ. 2558 – กำหนดการบริหารจัดการเวลาเรียน ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”

พ.ศ. 2559 – กำหนดตัวชี้วัดต้องรู้และตัวชี้วัดควรรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางฯ 2551

พ.ศ. 2560 – ปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ ตามหลักสูตรแกนกลางฯ 2551 รวมถึงประกาศให้บริหารจัดการเวลาเรียนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความยืดหยุ่น ในการจัดการเรียนการสอนหน้าที่พลเมือง และการบริหารจัดการเวลาเรียนภาษาอังกฤษ ป.1-3

พ.ศ. 2561 – ยกเลิกมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด สาระที่ 2 และสาระที่ 3 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางฯ 2551 และเปลี่ยนชื่อกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียน ตามหลักสูตรแกนกลางฯ 2551 ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเวลาเรียนได้เหมาะสมกับบริบทและจุดเน้นของสถานศึกษา

พ.ศ. 2562-2566 ทำการวิจัยและพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. โดยใช้แนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะ พ.ศ. 2564 ใช้ตัวชี้วัดต้องรู้และตัวชี้วัดควรรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางฯ 2551 ในการจัดการเรียนรู้ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

พ.ศ. 2565 – ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

พ.ศ. 2565-2566 – ขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางฯ 2551 ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

พ.ศ. 2566 – กำหนดตัวชี้วัดระหว่างทางและตัวชี้วัดปลายทาง แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตัวชี้วัดระหว่างทางและตัวชี้วัดปลายทาง และเกณฑ์การตัดสินผลการเรียน ตามหลักสูตรแกนกลางฯ 2551 รวมถึงโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ระดับประถมศึกษา โดยใช้สมรรถนะเป็นฐาน เพื่อนำผลมาประกอบการพัฒนาต่อไป