สพฐ. ร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นางอาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่และคณะทำงาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สถาบันส่งสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันจัดงานการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับนานาชาติในหัวข้อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงพัฒนาและส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้แก่ครู นักการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา โดยเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ พร้อมนำเสนอผลงานวิชาการ และขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติต่อไป

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ workshop จำนวน 6 ห้อง ได้แก่

ห้องที่ 1 การพัฒนาผู้เรียนสู่เส้นทางโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ

ห้องที่ 2 การพัฒนาผู้เรียนสู่เส้นทางโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ

หัองที่ 3 การเรียนการสอนวิทยาศาตร์ คณิตศาตร์ ในโรงเรียนนานาชาติ

ห้องที่ 4 การพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมในโรงเรียนนานาชาติในสถานการณ์

ห้องที่ 5 การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนทุรกันดารห่างไกล

ห้องที่ 6 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน