สพฐ. แจงกรณีนักเรียน ม.1 หมดสติ ชี้ผลตรวจไม่ได้เสพยา

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีกรณีนักเรียนชั้น ม.1 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ เกิดอาการช็อกหมดสติ จากการเสพยาเสพติด จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ นั้น

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความห่วงใยถึงประเด็นดังกล่าว จึงมอบหมาย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและช่วยเหลือนักเรียน รวมทั้งชี้แจงต่อสังคม เลขาธิการ กพฐ. จึงมีข้อสั่งการไปยังศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้รับรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 โดยครูในโรงเรียนได้สังเกตเห็นอาการของนักเรียนที่ปรากฏในข่าว มีอาการผิดปกติ ตาแดง ยืนทรงตัวไม่ปกติ เลยเรียกมาซักถาม และเกิดข้อสงสัยว่าน่าจะป่วย จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ ผลจากการตรวจของโรงพยาบาลยืนยันว่า’ไม่พบ’สารเสพติดในร่างกายของนักเรียนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านนักเรียนและนักเรียนที่อยู่บริเวณละแวกบ้านของนักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลและช่วยเหลือสนับสนุน โดยได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครองและหาแนวทางการป้องกัน การดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมกัน และขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ให้การสอดส่องดูแลด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งกำชับให้ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรครูทุกท่าน ได้คุ้มครองช่วยเหลือนักเรียนในสังกัด ตามมาตรการความปลอดภัยของ สพฐ. อย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ได้มีการประสานขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรห้วยราช ปกครองอำเภอห้วยราช สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาล ในการลงพื้นที่เพื่อสอดส่องดูแลในแหล่งชุมชนและจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการรวมตัวหรือแหล่งมั่วสุมของกลุ่มเยาวชนหรือนักเรียนในพื้นที่

“สพฐ. มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้ของเด็ก จึงได้กำชับให้ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. และ สพม.บุรีรัมย์ เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยประเมินสถานการณ์ที่เกิด และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานกับผู้ปกครองในการช่วยเหลือนักเรียน รวมทั้งให้ข้อเท็จจริงให้สาธารณะชนทราบ ซึ่งผลการตรวจร่างกายเบื้องต้นไม่พบสารเสพติด จึงขอให้ประชาชนโดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์ได้รับทราบ และร่วมกันงดการแสดงความเห็นในสิ่งที่อาจจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของเด็กนักเรียนและครอบครัวได้ หลังจากนี้ สพฐ. ก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของเอกสารผลการวินิจฉัยจากโรงพยาบาล เพื่อคลายความกังวลของสังคม และขอบคุณทางโรงเรียนที่สังเกตนักเรียนและส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน และขอบคุณในความเข้มแข็งของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของ สพฐ. ให้มีประสิทธิภาพอย่างนี้ตลอดไป เพื่อคลายกังวลของสังคมและเชื่อมั่นในการดูแลนักเรียนในสังกัด สพฐ.ต่อไปค่ะ” โฆษก สพฐ. กล่าว