เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ปลื้มนักเรียนทุน KOSEN จุฬาภรณ์ฯ สร้างชื่อระดับนานาชาติ

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล) เป็นผู้แทน ต้อนรับ ดร.ไอซาโอะ ทานิคูชิ ประธานสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น และคณะ ในโอกาสการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 9 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาและคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียน วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เข้าร่วมการประชุม ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์เพื่อความเป็นเลิศ นับแต่ พ.ศ. 2559 โดยส่งเสริมให้สถาบัน KOSEN ในภูมิภาคเป็นสถานศึกษาร่วมพัฒนากับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 โรงเรียนของไทย และมีการสนับสนุนทุนให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีนักเรียนทุน รวม 94 คน

อธิการบดีสถาบัน KOSEN จำนวน 11 แห่ง ที่รับนักเรียนทุนฯไปศึกษาต่อ รายงานในที่ประชุมว่า นักเรียนไทยมีผลการเรียนในลำดับต้นๆ ของสถาบัน มีทักษะในการทำวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูง มีผลงาน นวัตกรรมชนะเลิศระดับประเทศญี่ปุ่น และเป็นตัวแทนญี่ปุ่นไปแข่งขันระดับนานาชาติ นอกจากนี้ นักเรียนไทยยังได้เผยแพร่ soft power ของไทยให้กับชาวญี่ปุ่น และชมเชยว่ามีจิตอาสาและช่วยเหลือกิจกรรมของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า “แนวคิดการจัดการศึกษา KOSEN ประเทศญี่ปุ่น มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนานักเรียนที่เป็นเลิศด้านวิชาการ ให้มีสามารถพัฒนานวัตกรรมไปช่วยแก้ปัญหาสังคม “เป็นหมอของสังคม” สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ที่มุ่งให้นักเรียนได้ค้นพบความถนัดและเป้าหมายของตนเอง มีทักษะที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เป็นพลเมืองดี ที่มีคุณภาพและมีความสุข”

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า “รู้สึกประทับใจและขอขอบคุณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ที่ตลอดระยะเวลา 7 ปี แห่งความร่วมมือของสองประเทศได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาผู้บริหาร ครูและนักเรียน ด้วยดีเสมอมา ขอชื่นชมและเป็นกำลังให้กับนักเรียนทุนทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียน สพฐ. ยืนยันความมุ่งมั่นในการสานต่อความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อความสำเร็จในการพัฒนาเยาวชนไทยและญี่ปุ่นในทศวรรษหน้าและต่อไป”