สพฐ. แจงไม่รื้อ ว PA ชง ก.ค.ศ. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินหลากหลาย ลดภาระครู

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ลดขั้นตอนและมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ตั้งคณะทำงานรับฟังเสียงข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอรูปแบบการประเมินวิทยฐานะครู ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา ต่อไป

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า ด้วยบริบทของโรงเรียน สังกัด สพฐ. มีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ทั้งเชิงพื้นที่ โรงเรียนในเมือง โรงเรียนในชนบท โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงความแตกต่างของครูผู้รับการประเมิน ที่มีกลุ่มอายุ ความถนัด วิชาที่รับผิดชอบสอนที่แตกต่างกัน เพื่อให้การประเมินวิทยฐานะสะท้อนการทำงานของครูและตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียน ควรให้ครูมีทางเลือกรูปแบบการประเมินที่หลากหลาย ตามความถนัดและความสนใจ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างแท้จริง

“สพฐ. ยืนยันว่า การจัดทำข้อเสนอต่อ ก.ค.ศ. ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการรื้อ หรือยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เกณฑ์ประเมิน ว PA – ว 9/2564) เดิม เพราะเป็นเกณฑ์ประเมินที่ดีอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มโอกาสและทางเลือกรูปแบบการประเมินที่หลากหลาย โดยมุ่งวัดผลการทำงานของครู ตามบริบทของพื้นที่สถานศึกษาและธรรมชาติของวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกัน เช่น กลุ่มครูที่ได้รางวัลจากการประกวดจำนวนมาก อาจจะอยากได้ ว13 กลับมา หรือกลุ่มที่ไม่ถนัดทำคลิปวิดีโอประกอบคำขอ ว PA ก็อาจอยากได้การประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์จากผู้เรียน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำคณะทำงานให้พิจารณารูปแบบการประเมินที่เชื่อมโยงกับคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ตามนโยบายของ รมว.ศธ. เป็นสำคัญ โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ทันเป็นของขวัญวันครู 16 มกราคม 2567 นี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว