เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” นำทีม OBEC ONE TEAM ประชุมเข้ม ดันโครงการลดภาระครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง กำหนดจุดเน้น นโยบายเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2567-68

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดวาระเร่งด่วนในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา เรียนดี มีความสุข ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล) ที่มุ่งเน้นลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง จึงได้จัดการประชุมจัดทำจุดเน้นและกำหนดตัวชี้วัดตามนโยบายฯ และนโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร โดยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาทุกคน (นางเกศทิพย์ ศุภวานิช นายพัฒนะ พัฒนทวีดล และนายธีร์ ภวังคนันท์) พร้อมด้วย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. (นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง) ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสำนัก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กว่า 90 คน ร่วมการประชุม โดยให้มีการทำงานรูปแบบ OBEC ONE TEAM

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะทำงาน สพฐ. ทุกสำนัก บูรณาการทำงานร่วมกันภายใต้รูปแบบ OBEC ONE TEAM มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ร่วมกันวิเคราะห์นโยบายและจุดเน้น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 พร้อมด้วยนโยบายระยะเร่งด่วน สพฐ. (Quick Win) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และวิเคราะห์กรอบโครงการฯ งบประมาณที่จะนำไปสู่การจัดทำคำขอตั้งงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป

“นโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งให้นักเรียนเรียนดี ผู้มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกคน มีความสุข ตนจึงได้เน้นย้ำผู้ปฏิบัติงานทุกโครงการฯ จากทุกสำนักส่วนกลาง ของ สพฐ. ให้พิจารณากำหนดกรอบการดำเนินงานอย่างรอบคอบ บูรณาการทำงานร่วมกันโดยคำนึงถึงคุณภาพที่จะเกิดแก่ผู้เรียน มุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองเป็นสำคัญ จึงเชื่อมั่นได้ว่า ในปีงบประมาณ 2567-2568 นี้ สพฐ. จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมให้แก่การศึกษาชาติได้ ครูและบุคลากรจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลลัพธ์ไปถึงคุณภาพและความสุขของผู้เรียนและผู้ปกครอง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแนวทางการพัฒนาประเทศ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว