สพฐ. เสริมทัพสานฝันเข้มนักเรียนราชประชานุเคราะห์ สู่อาชีพที่ชอบ ต่อยอดได้หลากหลาย

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ  ร่วมประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ทั่วประเทศ จำนวน 52 แห่ง ในโครงการสอนเสริมสานฝันเพื่อนักเรียน ให้กับนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และราชประชานุเคราะห์ เพื่อสร้างโอกาส และสร้างฝันให้กับนักเรียนได้มีอาชีพที่มั่นคง มีเกียรติ สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีทีมครูผู้สอนโครงการ พันเอกประสบโชค อรัณยกานนท์ นปก. มทบ.17 ชรก. สง.ผบ.ทบ. และทีมทหารที่ดูแลโครงการฯ รวมถึงทีม ผอ.รปค. และ ผอ.โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ร่วมโครงการฯ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมสีฟ้า อาคาร สพฐ. 1 ชั้น 3 กระทรวงศึกษาธิการ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของการประเมินผลเพื่อพัฒนานักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสรู้จุดที่ควรปรับปรุงของตนเองและสามารถเติมเต็มความรู้ได้ตรงประเด็น และมีความมั่นใจในการสอบจริง พร้อมทั้งซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการจัดสอบผ่านระบบออนไลน์ผ่าน Quizalize โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 – 17 ธันวาคม 2566 จำนวน 6 วิชา ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คอมพิวเตอร์พื้นฐาน และความสามารถทั่วไป (สังคมศึกษา) เป็นการเสริมความรู้ผ่านระบบ Online ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.30 – 12.30 น. ใน 15 สัปดาห์ โดยมีครูมืออาชีพจากสถานศึกษา สังกัด สพฐ. และสถาบันชั้นนำเป็นผู้สอน และมีการเตรียมการซ้อมทำแบบทดสอบให้กับนักเรียนได้ทบทวนบทเรียน เพื่อเสริมศักยภาพ เติมเต็ม พัฒนาจุดอ่อน และยังเป็นประโยชน์แก่ครูผู้สอนในการเติมเต็มองค์ความรู้ และเทคนิคการสอนจากครูมืออาชีพดังกล่าว ภายใต้นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ) ในด้านการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ “Learn to Earn” โดยมีการแนะแนวเป้าหมายชีวิต และลดภาระผู้ปกครองในการหาที่เรียนเสริมให้นักเรียน

ในโอกาสนี้ พันเอก ประสบโชค อรัณยกานนท์ หัวหน้าฝ่ายสรรพกำลัง มณฑลทหารบกที่ 17 ช่วยราชการ สำนักงาน ผบ.ทบ. ได้ให้แนวทางในการเตรียมความพร้อมและสอบนักเรียนนายสิบ และนักเรียนนายร้อย สำหรับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และนักเรียนที่สนใจ โดยนักเรียนนายสิบทหารบก มีจำนวนที่รับสมัคร 2,200 นาย ประกอบด้วย 2 วิธี ได้แก่ 1) สมัครเข้าเป็นพลทหารกองประจำการ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ประจำปี 2567 สมัครได้ทั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองทัพไทย 2) โควตาพลเรือน สมัครเป็นนักเรียนนายสิบร้อยละ 20 ทั้งนี้ พันเอก ประสบโชค อรัณยกานนท์ ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริหารของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ โรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ตลอดจนนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษได้รับทราบว่า ทางกองทัพบกได้จัดสรรโควตาพิเศษสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้ไว้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเอื้อให้นักเรียนสามารถบรรลุตามเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยกลุ่มนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์-โรงเรียนพื้นที่พิเศษ มีโควตาให้เข้าเรียน จำนวน 35 นาย และโควตานักกีฬา อีกจำนวน 5 นาย

นอกจากนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังสามารถพัฒนาทักษะด้านวิชาการจากครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชา ทั้งคุณครูมืออาชีพจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และติวเตอร์จากสถาบันชั้นนำของประเทศ สามารถต่อยอดการเรียนรู้เพื่อนำไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในคณะที่ชอบ ไปสู่อาชีพที่ใช่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพไทยและการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน สร้างโอกาส สร้างฝันให้กับนักเรียนได้เรียนในคณะที่ชอบ หรือมีอาชีพที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ ขณะที่คุณครูก็สามารถนำเทคนิคการสอนจากติวเตอร์มืออาชีพ นำไปต่อยอดพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตนเอง เสริมเติมสมรรถนะเพื่อทำการสอนนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ

“เลขาธิการ สพฐ. เน้นย้ำคุณภาพผู้เรียน และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงให้ทุกส่วนพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาทักษะ และเติมเต็มโอกาสให้นักเรียนให้ทุกโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เพื่อสานฝันให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่ สุดท้ายนี้ได้ฝากทางโรงเรียนให้ทำการค้นหานักเรียนที่สนใจ พร้อมจัดสถานที่ให้เอื้อต่อการสอน/การติว และมีคุณครูดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การติวเกิดประโยชน์กับนักเรียนสูงสุดและสานฝันให้เขาได้อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ.  กล่าว