เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เข้ม ห้ามครูตีเด็ก ย้ำ! ลงโทษนักเรียน ต้องทำตามระเบียบ

วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะ กรณีผู้ปกครองนักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ร้องเรียนว่าบุตรหลานถูกครูใช้ไม้เรียวตีหลายสิบครั้ง เพราะไม่ทำการบ้าน จนผิวหนังมีแผลและรอยช้ำ นั้น

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ทันทีที่ทราบ ตนได้สั่งการให้ นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่า เป็นกรณีของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 2 ที่ครูผู้สอนได้ลงโทษนักเรียนที่ไม่ส่งการบ้าน ด้วยการตีด้วยไม้เรียว บริเวณมือ ก้นและขา ซึ่งคุณครูยอมรับว่าได้ตีเด็กจริง แต่จากการสอบถามคุณครูและนักเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์ นักเรียนไม่ได้ถูกตีมากถึง 70 ครั้งตามที่ปรากฏในข่าว

ดังนั้น ขอให้ผู้ปกครองและสาธารณชนมั่นใจว่า สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุที่เกิดขึ้น โดยตนได้สั่งการมอบหมายเขตพื้นที่ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ประเมินปัญหาสถานการณ์ และได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูคนดังกล่าว ไปช่วยราชการที่เขตพื้นที่ นอกจากนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และให้รายงาน สพฐ. ภายใน 7 วัน ซึ่งหากผลออกมาอย่างไรแล้วก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบต่อไป รวมถึงให้เขตพื้นที่ร่วมกับโรงเรียน ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ช่วยเหลือ และเยียวยานักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บด้วยแล้ว

“ขอเน้นย้ำกับคุณครู ผู้บริหารโรงเรียนและเขตพื้นที่ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวทางการลงโทษนักเรียนตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งครูสามารถลงโทษผู้เรียนได้เพียง 4 วิธีเท่านั้น ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นหากพบว่านักเรียนมีพฤติกรรมผิดระเบียบ ขอให้ทางโรงเรียนพิจารณาวิธีการลงโทษที่เหมาะสม เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดอย่างเคร่งครัด”  เลขาธิการ กพฐ. กล่าว