รมช.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. เยี่ยมเขตพื้นที่อุบลราชธานี ชื่นชมนวัตกรรมนักเรียน “เรียนดี มีคุณภาพ”

วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ สพป.อุบลราชธานี เขต 5 และ สพม.อุบลราชธานี โดยมี นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมติดตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า วันนี้ได้มาพบปะผู้บริหารด้านการศึกษาในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ทั้ง สพป.อุบลราชธานี เขต 5 และ สพม.อุบลราชธานี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้มอบหมายให้ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และมอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยวันนี้ได้มาดูผลงานของน้องๆ นักเรียนของทั้ง 2 เขตพื้นที่ ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจและเป็นการส่งเสริมอาชีพ อาทิ การทอผ้าไหม การแกะสลัก การแปรรูปผลไม้หรือพืชผลที่สามารถเพาะปลูกได้ในท้องถิ่นแล้วแปรรูปมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวน่าส่งเสริม รวมถึงเรื่องการสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องร่อน และโรบอท ที่เด็กๆ ออกแบบสร้างสรรค์เอง สามารถใช้งานได้จริง เป็นที่น่าชื่นชมในความสามารถของน้องๆ ส่วนในด้านวิชาการก็มีนักเรียนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองมากมาย ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือด้านภาษา ดังจะเห็นได้จากน้องๆ ที่มานำเสนอผลงานให้ฟัง แต่ละคนสามารถพูดได้มากกว่า 1 ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน แสดงให้เห็นว่าทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยด้วย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดสำหรับการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือใช้ในการประกอบอาชีพได้

“สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ. กำลังทำอยู่ในขณะนี้ ล้วนเป็นปัญหาที่พบในโรงเรียนซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ทั้งเรื่องครูธุรการหรือนักการภารโรง ซึ่ง สพฐ. กำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นการลดภาระครู คืนครูกลับสู่ห้องเรียน และช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูธุรการหรือนักการภารโรงด้วย ซึ่งต้องขอบคุณทาง สพฐ. ที่พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงอีกหลายเรื่องที่เป็นการขับเคลื่อนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนมาโรงเรียนได้อย่างมีความสุข ครูทำการสอนได้อย่างเต็มศักยภาพ และช่วยยกระดับการศึกษาของไทยได้อย่างแท้จริง” รมช.ศธ. กล่าว 

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ล่าสุดตนได้มอบนโยบายและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศรับทราบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่ โดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่ต้องรู้จักโรงเรียน พื้นที่ และสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ตามแนวทางที่ สพฐ. ให้ไว้ การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กบนข้อจำกัดต่างๆ เช่น ครูไม่ครบชั้น ขาดผู้บริหาร ขาดแคลนงบประมาณ รวมถึงความทุรกันดารของพื้นที่ เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานเดียวที่จะช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนทุกขนาดสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ใช้อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐอย่างโปร่งใส ได้คุณภาพและเป็นคุณต่อโรงเรียน และให้เร่งจัดทำแนวทางการบริหารจัดการผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งธุรการโรงเรียน ให้แก่โรงเรียนเครือข่าย โดยบูรณาการกระบวนการทำงานและบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน

“พร้อมกันนี้ สพฐ. กำลังศึกษาแนวทางการต่อยอดความก้าวหน้าในวิชาชีพให้แก่บุคลากรตำแหน่งธุรการโรงเรียนควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ หากสำนักงานเขตพื้นที่และ สพฐ. ร่วมกันพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาชาติได้อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว