วันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการประเมิน PISA 2022 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม พร้อมด้วย นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา และนางสาวณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สพฐ. รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นางสุพัตรา ผาติวิสันติ์ รองผู้อำนวยการ สสวท. ผู้แทนจากสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า การสอบ PISA จัดโดยองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เป็นการวัดผลความฉลาดรู้ หรือ Literacy ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับผล PISA ที่ออกครั้งนี้เป็นการวัดผลเมื่อปี 2022 และประกาศผลเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพบว่าผลคะแนนที่ออกมาค่อนข้างต่ำ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เชิญหน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาหารือร่วมกันถึงผลคะแนนที่ออกมา ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้น สาเหตุที่ทำให้คะแนนประเมิน PISA ต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอย่างต่อเนื่อง และการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่อาจจะยังไม่ทั่วถึงเหมือนประเทศอื่นๆ จึงส่งผลให้คะแนน PISA ของไทยเราต่ำลง
สำหรับการประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ
ขณะที่ในประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย ซึ่งผลการประเมิน PISA 2022 ของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ สอดคล้องกับผลของระดับนานาชาติ
ดังนั้น ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับระบบการศึกษาไทยยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก แม้ในด้านคณิตศาสตร์จะมีช่องว่างดังกล่าวที่แคบลง แต่เป็นผลมาจากนักเรียนกลุ่มสูงมีการลดลงของคะแนนที่มากกว่านักเรียนกลุ่มต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด
“ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อทราบเรื่องดังกล่าว ก็ได้มีความห่วงใย ทั้งในเรื่องของผลการประเมิน PISA หรือคะแนนภาษาอังกฤษ จึงได้กำชับมายังกระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยดูแลเรื่องดังกล่าว พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. จึงได้ตั้งคณะทำงานที่มีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนจาก สสวท. สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหาข้อสรุปของผลการประเมินที่ต่ำลง และหาแนวทางแก้ปัญหา รวมทั้งการพัฒนาผลประเมิน PISA ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยตั้งเป้าให้ผลการทดสอบทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในการประเมินรอบต่อไป และจะต้องไม่น้อยกว่ารอบปี 2018 ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 59 และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ โดยมี รมว.ศธ. เป็นประธาน เพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังด้วย” รมช.ศธ. กล่าว
- ศธ. ต้อนรับ Mr. Jonathan Dale Kings สานต่อความร่วมมือไทย-นิวซีแลนด์ - 9 ธันวาคม 2024
- รองเลขาธิการ กพฐ. “เกศทิพย์” เข้าเฝ้าฯ ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 - 5 ธันวาคม 2024
- สพฐ. ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร - 5 ธันวาคม 2024