สพฐ. เข้ารับรางวัลพระราชทานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2565

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นผู้เบิกผู้แทนนักเรียน และสถานศึกษา ที่เข้ารับรางวัลพระราชทานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2565 จาก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

สำหรับการคัดเลือกนักเรียน และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทานนี้ เกิดขึ้นจากน้ำพระทัย อันเปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงมีพระราชปรารภแด่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) ในปี พ.ศ. 2506 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2506 และพระราชทานรางวัลแก่โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามซึ่งจัดการศึกษาดีเด่น ใจความของพระราชปรารภมีว่า “มีนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งมีความประพฤติดีและมีความมานะพยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี รวมทั้งมีโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี จนนักเรียนสอบได้ผลดีมากเป็นส่วนรวม นักเรียนและโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสมควรจะได้รับรางวัลพระราชทาน และทรงยินดีจะพระราชทานรางวัลให้…” กระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมนำพระราชปรารภมาพิจารณาดำเนินการด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และถือเป็นภารกิจสำคัญที่ปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ รวมเป็นเวลามากกว่า 50 ปี

การดำเนินการคัดเลือกนักเรียนและสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน โดยนักเรียนเน้นที่คุณสมบัติและความประพฤติดีเด่นเป็นที่ยอมรับของสังคมและเป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนสถานศึกษาต้องเป็นสถานศึกษาที่สามารถบริหารการศึกษาอย่างมีมาตรฐาน ทั้งด้านคุณภาพนักเรียน ด้านการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการ ด้านการบริหารและจัดการศึกษา ด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านความดีเด่นของสถานศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการคัดเลือกนักเรียนและสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตระหนักดีว่ารางวัลพระราชทานเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดของนักเรียนและสถานศึกษา นักเรียนและสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ต้องดำรงรักษาสภาพหรือคุณความดีไว้ให้คงอยู่เสมอหรือดียิ่งขึ้น สถานศึกษาที่ได้รับรางวัลนับเป็นสถานศึกษาต้นแบบหรือสถานศึกษาตัวอย่างในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับสถานศึกษาโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดี

สำหรับผลการคัดเลือกนักเรียน เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2565 ได้แก่

– นักเรียนรางวัลพระราชทาน จำนวน 92 แห่ง

– นักเรียนรางวัลชมเชย จำนวน 120 แห่ง

– นักเรียนผ่านเกณฑ์ จำนวน 14 แห่ง

และผลการคัดเลือกสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ประจำปีการศึกษา 2565 ได้แก่

– สถานศึกษารางวัลพระราชทาน จำนวน 82 แห่ง

– สถานศึกษารางวัลชมเชย จำนวน 73 แห่ง

– สถานศึกษาผ่านเกณฑ์ จำนวน 6 แห่ง