รองเลขาฯ กพฐ. “ธีร์” ร่วมการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมในการประชุมเพื่อมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ ห้องรอยัลจูบิลีบอลรูม อิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้อำนวยการเขตทุกเขต ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร/ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุกแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประมาณ 3,000 คน

โดยรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง โดยในการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล และขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่พี่น้องประชาชน ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนมาแล้วในระยะแรก

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในหนังสือฯ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 แจ้งให้จังหวัดดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้

(1) มาตรการช่วยเหลือ การรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยวิธีการลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านคิวอาร์โค้ด (OR Code) และยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaID (ไทยดี) หากไม่สามารถลงได้ด้วยตนเองไห้ติดต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่ง

(2) มาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกัน โดยทำการเฝ้าระวังบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นผู้กระทำความผิด เช่น นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ การทวงถามหนี้โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ฯลฯ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ในพื้นที่ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ 2558 และมีมาตรการปราบปราม โดยกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงหรือเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานในพื้นที่ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรม

ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึงขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2566) มีผู้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระทบทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 76,005 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 69,512 ราย และการ Walk in ลงทะเบียน ณ ศูนย์ฯ 6,493 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 48,148 ราย สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนขอความช่วยเหลือหนี้นอกระบบ สามารถลงทะเบียนออนไลน์ ได้ทางเว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th โดยจะต้องมีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน ThaID (ไทยดี) ของกรมการปกครองก่อน เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน เมื่อยืนยันตัวตนแล้วให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลตามแบบฟอร์มการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยผู้ลงทะเบียนไว้แล้ว สามารถตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในช่องสถานะ ตลอด 24 ชั่วโมง