สพฐ. สร้างเครือข่ายพี่เลี้ยง จับมือโรงเรียนขยายโอกาส ยกระดับคุณภาพการอ่านทั้งประเทศ

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) บรรยายพิเศษและร่วมให้กำลังใจ ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาชุดแบบฝึกกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะทางด้านการอ่านอย่างฉลาดรู้ ตามแนวทางการประเมิน PISA ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาฯ ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง ครูผู้สอนโรงเรียนเครือข่ายร่วมพัฒนา ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้แก่ โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จาก สสวท. สวก. สทศ. และ สบว. รวมทั้งสิ้นกว่า 100 คน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อจัดทำชุดแบบฝึกกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะทางด้านการอ่านอย่างฉลาดรู้ ตามแนวทางการประเมิน PISA เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านการอ่านอย่างฉลาดรู้ จำนวน 40 กิจกรรม โดยใช้ข้อสอบ PISA จำนวน 36 ข้อ และข้อสอบ IGCSE จำนวน 4 ข้อ สำหรับนำไปใช้ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนทั่วไป พร้อมทั้งวางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะ ตามแนวทางการประเมิน PISA ซึ่งหลังจากพัฒนาชุดฝึกดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จะนำไปใช้ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนเครือข่ายร่วมพัฒนา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยส่งเสริม กำกับ ติดตามเพื่อให้นักเรียนได้ทดลองฝึกการทำแบบทดสอบ PISA ทั้งในรูปแบบ Paper-Based และ Computer-Based เพื่อให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคย

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากผลการประเมิน PISA 2022 ในภาพรวมคะแนนของประเทศจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD แต่เมื่อวิเคราะห์คะแนนในส่วนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. จะเห็นว่ากลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD และมีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประเมิน การเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน PISA 2025 จึงใช้เครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการเรียนรู้สู่สมรรถนะด้านการอ่านของผู้เรียน เพราะการอ่านเป็นประตูสำคัญสู่การเรียนรู้ในทุก ๆ เรื่อง โดยทาง สพฐ. มีแผนชัดเจนที่จะนำชุดฝึกดังกล่าวลงถึงตัวนักเรียนในเดือนธันวาคม 2566 – มกราคม 2567 และมีแผนสร้างโอกาสให้นักเรียนได้เข้าไปฝึกทำแบบประเมิน PISA ในระบบเพื่อให้นักเรียนมีความคุ้นเคยและสามารถฝึกฝนพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น

“สพฐ. ขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมที่ถึงตัวนักเรียนในครั้งนี้ และมีพี่เลี้ยงในแต่ละพื้นที่ จะสามารถสร้างความพร้อมทางด้านสมรรถนะการอ่านและความฉลาดรู้ของนักเรียนอย่างแท้จริง ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) เน้นย้ำเรื่องการอ่าน คิดวิเคราะห์ ให้ลงถึงผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีแผนในการพัฒนาสมรรถนะทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยที่ไม่ได้มุ่งเป้าแค่การเพิ่มผลคะแนน PISA เท่านั้น แต่เพื่อยกระดับการศึกษาไทยทั้งระบบอย่างยั่งยืน ตามจุดเน้นของ ท่านเลขาธิการ กพฐ. (ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา) ในการส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้เป็นวิถีในการค้นหาความรู้และการต่อยอดองค์ความรู้ที่สูงขึ้น ด้วยการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านตามแนวทางการประเมิน PISA อีกทั้งยังเสริมสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เข้าถึงนักเรียนทุกคน ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา เข้าถึงง่าย (Anywhere Anytime) จะทำให้เกิดการสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนได้รับคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว