สพฐ. เร่งขับเคลื่อนสถานีแก้หนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมการขับเคลื่อนสถานีแก้หนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยมี ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม สพฐ.1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายธีร์ กล่าวว่า การประชุมฯ ในวันนี้จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความรู้ในหลายเรื่องให้กับทุกท่าน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน โดยท่านจะได้เรียนรู้ข้อมูลร่วมกันในเรื่องของกระบวนการในการจัดการแก้หนี้และวิธีการที่จะรายงาน ซึ่งในช่วงเช้าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ทั้งหมด ที่จะทำให้ทีมแก้หนี้สามารถที่จะเข้าใจและเห็นกรอบแนวความคิดได้ หลังจากนั้นช่วงบ่ายจะเป็นเรื่องของการนำโปรแกรมในการจัดทำรายงานมาทำความเข้าใจด้วยกัน โดยหลังจากนี้ เราจะทำการรายงานทาง LINE OPEN CHAT และอาจจะมีการประชุมในช่วงแรกสัปดาห์ละครั้งเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการรายงานสถานการณ์เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้ทุกท่านมีประสบการณ์มากขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ

“สพฐ. เล็งเห็นความสำคัญเรื่องของการปรับโครงสร้างสถานีแก้หนี้ ตามนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนโยบายของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. โดยการเพิ่มที่ปรึกษา ได้แก่ อัยการคุ้มครองสิทธิประจำจังหวัด ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสหกรณ์จังหวัด โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. วางแนวคิดในการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานีแก้หนี้ 1 คน/สัปดาห์/สถานีแก้หนี้ โดยให้ถือว่าเป็นผลงานสำคัญในการประกอบการพิจารณาการบริหารงานบุคคลของ ผอ.สพท. ซึ่งสถานีแก้หนี้จะต้องรายงานผลการดำเนินงานในทุกรอบสัปดาห์ เพื่อเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการดำเนินงาน ในส่วนของการสื่อสารไปยังผู้เข้าร่วมโครงการฯ และบุคลากรในเรื่องการดำเนินงานทุกเรื่อง ทุกโอกาส และให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยขอให้ระมัดระวังเรื่องการสื่อสารที่จะต้องเป็นการสื่อสารเชิงบวก เพื่อสร้างความรู้สึกไว้วางใจ และควรระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ให้เผยแพร่ไปยังผู้อื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจุดมุ่งหมายของการดำเนินงานโครงการฯ นี้ สพฐ. มีความคาดหวังให้ข้าราชการในสังกัด สพฐ. ได้บริหารหนี้ให้วงเงิน 70% ของเงินเดือนอย่างมีประสิทธิภาพ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว