ศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ รวมพลังขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การนิเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การนิเทศอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย สู่การปฏิบัติงานด้านการนิเทศการศึกษานางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มาพบปะให้กำลังใจและมอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การนิเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทุกเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 คน และคณะทำงาน จำนวน 25 คน รวมทั้งสิ้น 270 คน

ในโอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้แนวทางการขับเคลื่อนการนิเทศการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการนิเทศการศึกษา เช่น ด้านการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติและน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ การปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ ทันสมัยและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการอ่าน การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรมและประชาธิปไตย รวมถึงด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เป็นบทบาทสำคัญของศึกษานิเทศก์ที่ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยต้องมีการสร้างความเข้าใจ ร่วมวางแผนการดำเนินงานให้เกิดการขับเคลื่อน เชื่อมโยงนโยบายสำคัญ ผ่านกระบวนการนิเทศ ช่วยเหลือ แนะนำผู้บริหารสถานศึกษาและครู รวมถึงการพัฒนาการนิเทศเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการจัดการเรียนรู้ของครูที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะสำคัญตามที่หลักสูตรกำหนด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและวางแผนการขับเคลื่อนร่วมกัน

จากนั้น นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้มาพบปะและให้กำลังใจศึกษานิเทศก์ที่เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งมอบแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การนิเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกล่าวว่า ศึกษานิเทศก์เป็นบุคคลสำคัญที่จะขาดไปเสียไม่ได้ในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นฟันเฟืองข้อต่อที่สำคัญ ที่จะช่วยแนะนำ ส่งเสริม เติมเต็มในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและเกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยเขตพื้นที่การศึกษาที่มีศึกษานิเทศก์ที่เข้มแข็งจะเกิดการพัฒนาคุณภาพในทุกมิติ จึงขอเป็นกำลังใจให้ศึกษานิเทศก์ทุกท่าน ทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ได้ทำงานอย่างแข็งขันในการเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ และเป็นกำลังหลักของเขตพื้นที่การศึกษา ในการเชื่อมต่อระหว่างส่วนกลาง กับเขตพื้นที่ และโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งให้กับผู้บริหารและครูในการยกระดับคุณภาพนักเรียนอย่างรอบด้าน ขอบคุณในความทุ่มเทและการทำงานหนักของทุกท่าน เราจะเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันต่อไป เพื่อความสำเร็จในภาพใหญ่ระดับประเทศ และเป็นความสำเร็จของพวกเราทุกคนด้วย

การประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การนิเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ครั้งนี้หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศนฐ.) มีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและมีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่ มีแผนการขับเคลื่อนนโยบายด้วยกระบวนการนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่และของเครือข่ายการนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรคของการนิเทศ อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่เติมเต็ม การบรรยายสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติการนิเทศ การอภิปราย/เสวนาของตัวแทนผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ ศึกษานิเทศก์รุ่นพี่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในบทบาทผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ การประสานแผนการพัฒนาคุณภาพงานด้านวิชาการของ สวก., สทศ., สนก. และสสวท. มีการฝึกปฏิบัติและระดมความคิดเห็นเพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติการนิเทศในระดับเขตพื้นที่และระดับเครือข่ายการนิเทศ และนำเสนอแผนการพัฒนางานนิเทศฯ การร่วมแลกเปลี่ยน ทบทวนบทบาทภารกิจผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ และการพัฒนาเครือข่ายการนิเทศ เพื่อหนุนเสริมภารกิจการนิเทศการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีการอภิปราย เรื่อง การพัฒนางานตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (ว PA) ของศึกษานิเทศก์  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กลยุทธ์การบริหาร จัดการในกลุ่มนิเทศนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา ให้ประสบผลสำเร็จ และ การนำเสนอแผนการพัฒนางานนิเทศการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

Latest posts by โสภิดา ธรรมวงศ์ (see all)