เสมา 2 พร้อม สพฐ. ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนในนครพนม ชมเปาะจัดการเรียนรู้ดี โรงเรียนเข้มแข็งมีคุณภาพ

วันที่ 1 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ณ สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครพนม ได้แก่ โรงเรียนเรณูวิทยาคาร โรงเรียนธาตุพนม โรงเรียนนาแกพิทยาคม และโรงเรียนปลาปากวิทยา โดยมี นายวิสิทธิ์ ใจเถิง และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางสาวพัชรกันย์ เมธาอัครเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการคลังและสินทรัพย์ สพฐ. รวมถึงผู้บริหารด้านการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ด้วย

โดย รมช.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. พร้อมคณะฯ ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนเรณูวิทยาคาร ในเรื่องของการปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัยและหลากหลาย ซึ่งพบว่าทางโรงเรียนมีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย และมีสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย ประกอบกับคุณครูที่มีเทคนิคการสอน Active Learning ที่น่าสนใจ สามารถพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะได้อย่างรอบด้าน จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนธาตุพนม ในเรื่องการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย ซึ่งได้บูรณาการการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงลงมือทำเพื่อเกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืน ในรูปแบบการจัดนิทรรศการโรงเรียนศีล 5 การร่วมงานประเพณีทางศาสนา กิจกรรมตักบาตรหน้าโรงเรียน กิจกรรมยุวพุทธทำบุญตักบาตรทุกวันพระ กิจกรรมพาลูกเข้าวัดปฏิบัติธรรม และกิจกรรมคนดีศรีธาตุพนม (ของหายได้คืน) รวมถึงกิจกรรมยุวมัคคุเทศก์ กิจกรรมรำตำนานพระธาตุพนม เป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษชาวธาตุพนมสืบไป ทางด้านโรงเรียนนาแกพิทยาคม ได้ตรวจเยี่ยมการเสริมสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของสังคม และป้องกันภัยคุกคามในชีวิตทุกรูปแบบ โดยโรงเรียนได้ดำเนินการตามแผนและมาตรการด้านความปลอดภัย 3 ป (ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม) ให้แก่ ผู้เรียน ครูและบุคลากร ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเข้มข้น โดยมีกรอบแนวคิดความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ได้แก่ ด้านอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติในสถานศึกษา ด้านการลดความเสี่ยงและการรู้รับปรับตัวจากภัยพิบัติ และมีการจัดการบริหารความปลอดภัย ภายใต้ขอบข่ายความปลอดภัย 4 กลุ่มภัย ได้แก่ ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ และภัยที่เกิดจากผลกระทบทางกายและจิตใจ จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนปลาปากวิทยา ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน จัดหาทุนการศึกษา กำกับติดตาม ส่งเสริมผู้เรียนให้จบการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาทักษะต่าง ๆ ตามความถนัดและความสามารถของผู้เรียน ทั้งยังจัดการเรียนรู้อย่างหลากหลายเหมาะสมกับบริบทในสังคมปัจจุบัน เป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้แก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า จากการลงพื้นที่วันนี้ ตามที่พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตนมาตรวจติดตามการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จังหวัดนครพนม พบว่า แต่ละโรงเรียนมีผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ที่เข้มแข็ง ถือเป็นจุดแข็งของจังหวัดนครพนม ทุกโรงเรียนมีคุณภาพที่เห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากการสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นทั้งโรงเรียนในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล ทางผู้ปกครองก็ไว้วางใจในการส่งบุตรหลานมาเรียน เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและสามารถเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆได้ เราเองต้องการเห็นภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย อย่างเช่นโรงเรียนธาตุพนม ก็สามารถเป็นต้นแบบในการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ได้ ด้วยการจัดกิจกรรมแบบ Active Learning ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติและเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่เน้นการท่องจำแต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งทางกระทรวงก็ได้สนับสนุนการใช้สื่อที่ทันสมัย เช่น AR, AI เข้ามาบูรณาการกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วย

“ทางด้านความปลอดภัยในสถานศึกษานั้น จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนนาแกพิทยาคม ก็พบว่าโรงเรียนมีมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด เป็นตัวอย่างที่ดีให้โรงเรียนอื่นๆ ได้ ซึ่งหากทุกโรงเรียนเอาจริงเอาจังในเรื่องความปลอดภัยก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี รวมถึงการมีแผนเผชิญเหตุหรือการฝึกเอาชีวิตรอดจากภัยคุกคามต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์ขอความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รมช.ศธ. กล่าว

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่วันนี้ พบว่าแต่ละโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ดี มีผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ ครบรอบด้านทุกมิติ ทั้งการปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัยและหลากหลาย การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย การเสริมสร้างความปลอดภัยของสถานศึกษา และการเพิ่มโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่รอบนอกที่มีคุณภาพไม่แพ้โรงเรียนในเมือง ผู้ปกครองไว้วางใจส่งบุตรหลานมาเรียนจำนวนไม่น้อย ซึ่งเรามองว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่อื่นๆ สามารถถอดบทเรียนนำไปปฏิบัติตามได้ เพื่อให้คุณภาพเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทาง สพฐ. จะขับเคลื่อนนโยบายลงสู่ทุกพื้นที่ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป