รองเลขาธิการ กพฐ. “เกศทิพย์” ร่วมทีม เสมา 1 เยี่ยมโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ติดตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดความเหลื่อมล้ำด้วยเทคโนโลยีทางไกล

วันที่ 20 มีนาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมคณะติดตาม โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ และรายงานผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

โดย รมว.ศธ. และคณะฯ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี เริ่มจากเยี่ยมชมศูนย์การเรียนเกษตร ที่ให้ความรู้นักเรียนในเรื่องการทำเกษตรอย่างครบวงจร ทั้งการปลูก การเพิ่มผลผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ต่อมาคือห้องสมุด & ร้านกาแฟ ที่นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง ได้ฝึกอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียน จากนั้นได้เยี่ยมชมการเรียนแบบจิตศึกษา ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการอ่าน การเขียน ภาษาไทย สร้างสมาธิให้นักเรียนตั้งใจกับการเรียนมากขึ้น พร้อมทั้งชมห้องเรียนศิลปะ Art for Living และห้องเรียนคหกรรมศาสตร์ โดยแต่ละจุดมีนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ นำเสนอการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ ศธ. สร้างความประทับใจและได้รับเสียงชื่นชมจาก รมว.ศธ. และคณะฯ เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2507 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ 61 ต่อมาได้โอนมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2520 โรงเรียนได้ขยายโอกาสทางการศึกษาและได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามแผนพัฒนาการศึกษาของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนชาวเขา ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้เรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนำความรู้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตน โดยในระยะเริ่มต้นได้ดำเนินการโดยเปิดเป็นห้องเรียนในสาขาของโรงเรียนแม่จันวิทยาคม และใช้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน ต่อมาจึงได้รับอนุมัติให้เปิดขยายชั้นเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และจัดการเรียนการสอนด้วยตนเองตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 เป็นต้นมา จากนั้นในปีการศึกษา 2550 ได้ย้ายสถานที่มายังโรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสำนักงานชั่วคราวของแขวงการทางลำปาง โรงเรียนได้จัดการศึกษาโดยยึดพระราชปณิธานของสมเด็จย่าที่ว่า “ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเขาเอง” โดยปัจจุบัน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 34 คน มีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 426 คน

จากนั้น รมว.ศธ. และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูมิวิทยาประสาท) เพื่อเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมีการพาชมห้องปฏิบัติการ E-Learning ซึ่งโรงเรียนมีความพร้อมด้านคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในการรองรับกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ อาทิ การสอบด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) การเลือกตั้งประธานสภานักเรียนและคณะกรรมการสภานักเรียน ด้วยระบบลงคะแนนเลือกตั้งแบบออนไลน์ E-VOTE ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีบนฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มความสะดวกสบาย รวดเร็วทันสมัย ตอบโจทย์โลกแห่งการเรียนรู้ในอนาคต วางรากฐานการมีส่วนร่วมด้านประชาธิปไตยในโรงเรียน จากนั้นพาชมโรงอาหารที่เป็นระบบสมาร์ทการ์ด รองรับระบบการจ่ายเงินแบบสแกนบัตร เป็นสังคมไร้เงินสด นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงเรียนและคณะครู ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา พลิกโฉมโรงเรียนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) ปรับโฉมภูมิทัศน์ของโรงเรียน ให้น่าอยู่ น่ามอง คงอัตลักษ์ความเป็นเวียงเก่า ของอำเภอเชียงแสน ให้โรงเรียนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ บริการให้นักเรียน ผู้ปกครอง คณะครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมเยือน ด้วยร้านกาแฟ เบเกอรี่ เวียงเก่าคอฟฟี่ ได้มีพื้นที่การเรียนรู้ และสร้างพื้นที่ทำงานที่มีความสุข ทันสมัย

สุดท้าย รมว.ศธ. และคณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนศาสตร์พระราชา วิทยาเขตกู่เต้า โดยทีมงานเกษตรของโรงเรียน ได้นำเสนอประวัติความเป็นมาและแนะนำฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามรอยศาสตร์พระราชาของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยโรงเรียนสามารถบริหารจัดการ ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ตามรอยศาสตร์พระราชาฯ  เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระองค์ท่านอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับคำชื่นชมจาก รมว.ศธ. ว่าสามารถบริหารจัดการได้ดี เป็นต้นแบบที่ดีให้โรงเรียนต่างๆ สามารถมาศึกษาดูงานและนำไปปฏิบัติตามได้ ถือเป็นมิติใหม่ของการศึกษาดูงานเชิงประจักษ์และการมีส่วนร่วมของนักเรียน ทำให้เด็กมีความกระตือรือร้น ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างสนุกกับเพื่อนๆ ตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง