รองเลขาธิการ พัฒนะ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” ครั้งที่ 1

วันที่ 25 เมษายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” ครั้งที่ 1 จัดขึ้นโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีทิศทางและนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ระบุไว้ว่า สถานศึกษามีสิทธิจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย หรือเป็นการจัดการศึกษาที่รวมหลายรูปแบบไว้ด้วยกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนมีทางเลือกในการเรียนรู้ได้เหมาะสมเป็นรายบุคคล และเพื่อแก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา

.

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ปัจจุบัน สพฐ. ดูแลเด็กเยาวชนทุกระบบรวมกันราว 6.5 ล้านคนต่อปีผ่านการทำงานของครูราว 5 แสนคน ในโรงเรียน 2.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ การที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นเจ้าภาพเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้เด็กเยาวชนวัยเรียนซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสิบล้านคน ได้เข้าสู่การศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึงผ่านการเปิดโอกาสของโรงเรียน

.

ฉะนั้นการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่เราจะมาดูกันว่าตัวแบบของการจัดการศึกษาที่มีทางเลือกและเหมาะสมกับผู้เรียน สามารถทำได้อย่างไร จากการทำงานของสถานศึกษาต้นแบบที่ทำมาก่อน โดยเฉพาะเด็กตกค้างจากระบบการศึกษา ซึ่งสถิติบอกเราว่าช่วงชั้น ม.3 เป็นรอยต่อสำคัญที่มีเด็กหลุดมากที่สุด เนื่องจากเป็นวัยที่เด็กเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งร่างกายจิตใจ ยิ่งเด็กเยาวชนที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

.

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การทำให้เด็กรู้ว่าสิ่งที่เขาสนใจ แม้จะเป็นเรื่องการแต่งรถมอเตอร์ไซค์หรือเรื่องใดก็ตาม เหล่านี้คือความรู้ คือความชอบความสนใจที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ทั้งนั้น การจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะรองรับและส่งเด็กกลุ่มนี้ให้ไปต่อได้ดีขึ้น วันนี้่นอกจากการชื่นชมโรงเรียนที่เป็นต้นแบบแล้ว สพฐ. ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้มีการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ และพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากโครงการนี้จะช่วยส่งเด็กไปถึงฝั่งให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ได้ทำงานที่ตรงกับศักยภาพ และนำองค์ความรู้มาทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเขาได้มากที่สุด