สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) และตัวชี้วัดผลลัพธ์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของ สพท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

วันที่ 25 เมษายน 2567 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) และตัวชี้วัดผลลัพธ์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 24 – 26 เมษายน พ.ศ. 2567 โดยมี นางสาวจุฬาลักษณ์ ทรัพย์สุทธิ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ผู้อำนวยการสำนัก/ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสำนักส่วนกลางที่รับผิดชอบตัวชี้วัด และข้าราชการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เข้าร่วม ณ โรงแรมแกรนด์ราชพฤกษ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และผ่านช่องทางสื่อดิจิทัล (Zoom Meeting, OBEC Channel)

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เห็นชอบให้มีการถ่ายทอดและชี้แจงกรอบแนวทางการประเมินสถานะหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) และตัวชี้วัดผลลัพธ์ (หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ) ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามภารกิจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สะท้อนการขับเคลื่อนนโยบาย ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต (ผอ.สพท.) และได้มีข้อสั่งการให้ทุกสำนักที่เกี่ยวข้อง บูรณาการตัวชี้วัดในการประเมินองค์รวมร่วมกัน เป็นไปตามนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง สอดคล้องกับการเป็นองค์กรคุณภาพ ตามวิสัยทัศน์ของ สพฐ. “องค์กรคุณภาพ สร้างคนดีมีความสุข” จึงได้มีการบูรณาการร่วมกับมาตรฐาน สพท. ตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติการ สพฐ. และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ซึ่งสามารถลดประเด็นการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) หมวด 1 – หมวด 6 จาก 24 ประเด็น เหลือเพียง 8 ประเด็น (ลดลงได้ 16 ประเด็น) และตัวชี้วัดผลลัพธ์หมวด 7 ประกอบด้วย 6 มิติ จำนวน 30 ตัวชี้วัด เหลือเพียง 12 ตัวชี้วัด

“การดำเนินการนี้เป็นไปเพื่อรองรับต่อยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมทางการพัฒนาองค์กรเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้ราชการทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่ เพื่อพลิกโฉมให้สามารถเป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจ และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สพฐ. ที่กล่าวว่า “องค์กรคุณภาพ สร้างคนดีมีความสุข” ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว