เสมา 1 เสริมแรงแกนนำ PISA ภาคเหนือ 44 เขตใจฟู พร้อมลุยยกมาตรฐานการศึกษาโรงเรียนขยายโอกาส

วันที่ 25 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมพบปะให้กำลังใจและมอบนโยบายแก่ผู้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาศักยภาพครูเพื่อจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) ภาคเหนือ โดยมีผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้รับผิดชอบงาน PISA และครูแกนนำ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์​และด้านคณิตศาสตร์ จำนวน 176 คน รวมถึงผู้สังเกตการณ์และคณะทำงานจาก สนก. สบว. ศูนย์ PISA สสวท. และผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เข้าร่วม ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

.

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกคนในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพราะโลกยุคปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีต่างๆ ก็พัฒนาไปมาก ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงควรเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้พร้อมรับการเรียนรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยการยกระดับทักษะเดิม (Upskill) ควบคู่ไปกับการสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้วยการพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้าน เราให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่คะแนน PISA นักเรียนประยุกต์ใช้ความรู้กับชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนทุกคน

.

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า การส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทาง PISA เป็นเรื่องที่ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ให้ความสำคัญและเน้นย้ำในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งการยกระดับผลประเมิน PISA นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่ ในการร่วมกันวางแผนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลประเมิน PISA 2025 ให้สูงขึ้น โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทาง PISA และขับเคลื่อนตามแผนขับเคลื่อนฯ อย่างจริงจัง ทั้งการจัดการเรียนการสอนให้เด็กฝึกคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญในการทำข้อสอบตามแนว PISA ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และควรสร้างจิตสำนึกให้ผู้เรียนว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งผลจากการประเมินจะเป็นข้อมูลชี้วัดคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศเราเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ได้

.

ขณะที่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า แนวทางของข้อสอบ PISA จะมีความแตกต่างจากข้อสอบทั่วไป ต้องมีการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยง ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเข้าใจ ซึ่งใน 3 ด้านหลัก (การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์) สิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวทางข้อสอบ คือการอ่าน เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกวิชา เมื่อนักเรียนมีความพร้อมในการอ่านครบ มีการคิด วิเคราะห์ จับประเด็น ถึงจะสามารถทำข้อสอบได้ รวมถึงการนำนักเรียนเข้าระบบ PISA Style Online Testing ทำให้นักเรียนที่เป็นเป้าหมายในการถูกสุ่มสอบ PISA มีโอกาสเจอสนามสอบเสมือนจริงได้ถึง 18 ครั้ง จนกว่าจะถึงการสอบ PISA ในปี 2025 เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ผอ.สพท. ถือเป็นหัวใจหลักที่ต้องพานักเรียนไปสู่จุดมุ่งหมาย ต้องมีความเข้าใจในการดำเนินงาน รวมถึงโรงเรียนพี่ต้องดูแลโรงเรียนน้อง ร่วมมือร่วมใจจับมือกันพัฒนาระหว่างโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างความพร้อมในการถูกสุ่มสอบ และผลคะแนนของนักเรียนอย่านำมาประเมินจัดเรียงลำดับ ขอให้คิดเป็น Formative Assessments แต่ต้องนำมาวิเคราะห์เติมการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสตามความต้องการของตนเอง สุดท้ายนี้ การอบรมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสทองที่ทุกคนจะได้มองไปยังเป้าหมายเดียวกัน ติดตามอยู่เคียงข้างไปด้วยกันเรื่อยๆ ขอให้ตระหนักว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศอยู่ในมือของพวกเราทุกคน ให้มองว่าทุกห้องเรียนจะไม่มีการเหลื่อมล้ำ แต่ทุกห้องเรียนได้รับการเพิ่มเติมเต็มจนเกิดคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนในความตั้งใจ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนต่อไป

.

สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้วิทยากรแกนนำได้ทราบนโยบายการขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติ มีเครื่องมือในการขับเคลื่อนในระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษา เข้าถึงห้องเรียน และสามารถขยายผลการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) และหลังจากอบรมทำให้ได้เครื่องมือ สื่อ ในการขยายผลการอบรมระดับเขตพื้นที่ รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนในระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษาอีกด้วย โดยการอบรมแบ่งออกเป็น การพัฒนาวิทยากรแกนนำพี่เลี้ยงระดับมัธยมศึกษา ฯ ด้วยครูแกนนำของศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ พร้อมด้วยวิทยากรพี่เลี้ยง รวม 400 คน และการพัฒนาวิทยากรแกนนำระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งมีจุดการพัฒนาตามภูมิภาค จำนวน 3 จุด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้าร่วมโดยประมาณ 1,000 คน

.

ทั้งนี้ กิจกรรมการอบรมประกอบด้วย 1.ความสำคัญของโครงการ PISA และภาพรวมของกิจกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA โดย ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA 2.การจัดทำแผนงานการดำเนินการของแต่ละเขตพื้นที่ เนื้อหาการอบรม แบบฝึกทักษะ ระบบข้อสอบออนไลน์ PISA สพฐ. สสวท. โดย สพฐ. และ สสวท. 3.แนวทางการใช้กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะตามแนว PISA 3 ด้าน คือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ 4.แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ โดย สพฐ. 5.แนวทางการนำแบบทดสอบ PISA ไปใช้ในการวัดผลและประเมินผลผู้เรียน ในระดับชั้นเรียนเพื่อพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ และปฏิบัติการในการนำแบบทดสอบไปใช้วัดผลประเมินผลผู้เรียนให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด โดย สพฐ. และ 6.แผนการขับเคลื่อนในระดับเขตพื้นที่ และการจัดทำแผนปฏิบัติการนำชุดแบบฝึกไปใช้ในสถานศึกษา รวมถึงแผนการดำเนินการให้นักเรียนคุ้นชินกับระบบการทำแบบทดสอบแบบ Computer-Based