วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ และทักษะการวางแผนทางการเงินและการออม ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2567 โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. และนางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหาร ผู้แทนของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ “โค้ชหนุ่ม” พร้อมคณะ และผู้เข้ารับการอบรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เห็นผล ทั้งนี้การแก้ปัญหาหนี้สินจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมไปพร้อมกัน ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยจะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการใช้เงิน การเก็บออมเงิน รวมทั้งการเสริมสร้างความรู้ สร้างวินัยการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสภาพคล่องทางการเงิน มีขวัญกำลังใจ และมีสมาธิในการแก้ปัญหา และพัฒนานักเรียน รวมทั้งสามารถวางแผน พัฒนาตนเองได้อย่างดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้นักเรียนมีคุณภาพขึ้น
“การเสริมสร้างสมรรถนะด้านการเงิน Financial Literacy เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ ทั้งส่วนของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทุกคน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการเงิน วางแผนการเงิน การออม รวมทั้งการลงทุน ให้เกิดรายได้ และใช้ชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน และโลกอนาคต ได้อย่างมีความสุขต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือครูและบุคลากร และส่วนที่ 2 คือ นักเรียนทุกคน ทั้งนี้ ส่วนของครู และบุคลากรทุกคน ต้องมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นทุกคน มีเงินเดือนเหลือมากกว่าร้อยละ 30 พร้อมทั้งมีความรู้ และทักษะด้านการเงิน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเองต่อไป และส่วนที่ 2 คือ นักเรียนทุกคนต้องมีความรู้ และทักษะด้านการเงิน เพื่อให้มีสมรรถนะด้านการเงิน พร้อมใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงจัดทำระบบออนไลน์รับลงทะเบียนผู้สมัครใจแก้ไขหนี้สิน อีกทั้งประสาน เจรจา สถาบันการเงิน เพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ และแสวงหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือ และแก้ปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ผ่านการอบรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ และทักษะการวางแผนทางการเงิน และการออม สำหรับการป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินรายบุคคล รวมถึงพัฒนาบุคลากรต้นแบบการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยตนเอง และการพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นที่ปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ OBEC Money Coach ซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญในการช่วยเหลือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่เป็นสถานีแก้หนี้ ทั้ง 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในการอบรมครั้งนี้ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความรู้ด้านการเงิน คือ โค้ชหนุ่ม นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ และคณะ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร และเป็นวิทยากรจำนวน 2 หลักสูตร เป็นเวลา 2 วัน ได้แก่ หลักสูตร “เสริมสภาพคล่องการเงินครู” และหลักสูตร “ครูไทยการเงินดีมีความสุข เกษียณสบาย” โดยมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. สศศ. สป. กคศ. สกสค. สกร. สอศ. วันละ 84 คน รวมทั้งสิ้น 168 คน
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพอาคารเรียนภายหลังน้ำลด ณ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย - 6 ตุลาคม 2024
- ผอ.สวก.สพฐ. “วิษณุ” เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ “การศึกษาไทยก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า” - 5 ตุลาคม 2024