สพฐ. จัดการประชุมพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามแนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรม (ประเด็นการจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา)

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามแนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรม (ประเด็นการจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา) โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงผู้อำนวยการสำนัก ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ผู้แทนสำนักงบประมาณ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 2 อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

.

โดยในการจัดประชุมครั้งนี้มีที่มาของการจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือที่ นร 0203/24592 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยยืนยันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 รับทราบรายงาน การพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะ ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย สำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง และความเหมาะสมของข้อเสนอแนะตามรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้าง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา โดยทุกหน่วยงานไม่มีข้อขัดข้องในการจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) แต่เห็นควรให้มีการหารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาความเหมาะสมตามแนวทางการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรมด้วย

.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำเสนอผลการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสั่งการข้างต้นไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรี มีมติวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และเห็นชอบขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ซึ่งประกอบด้วย วัตถุประสงค์ หน้าที่และความรับผิดชอบ และการแบ่งส่วนราชการภายในกรมของสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ทั้งนี้ การแบ่งส่วนราชการภายในกรม สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีหนังสือที่ นร 1200/ว7 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง แนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรม โดยกำหนดให้มีการแบ่ง ส่วนราชการแบบออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 การมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรมโดยไม่เพิ่มจำนวนกองในภาพรวมของส่วนราชการตามที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ (Rearrange) กรณีที่ 2 การแบ่งส่วนราชการภายในกรม กรณีการเสนอจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงขอรับทราบความคิดเห็น และแนวทางการพิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามแนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรม ประเด็นการจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.)

.

ทั้งนี้เพื่อให้การดําเนินการปรับปรุงโครงสร้างของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสม สอดรับกับข้อเสนอตามรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุง โครงสร้าง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสํานักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และสอดคล้องตามแนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรม จึงได้มีการจัดการประชุมพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามแนวทาง การแบ่งส่วนราชการภายในกรม ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุม สพฐ. 5 ชั้น 9 โดยเชิญเลขขาธิการ กพฐ. รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้แทนจากสํานักงาน ก.พ.ร. สํานักงาน ก.พ. และสํานักงบประมาณ รวมถึงผู้อํานวยการสํานักทุกสํานักใน สพฐ. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งสำนักการบริหารมัธยมศึกษาต่อไป