สพฐ จับมือ  70 โรงเรียน สพม. นครศรีธรรมราช พัฒนาการอ่านคิดวิเคราะห์ นำชุดฝึกความฉลาดรู้ เข้าทุกห้องเรียน

วันที่ 18 พฤษภาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการและพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางการประเมิน PISA โดยอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment : PISA) ให้แก่ วิทยากรแกนนำรายวิชา ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2567 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน 207 คน จาก 70 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช โดยมี ดร.อมรรัตน์ โสธารัตน์ ผอ.สพม.นครศรีธรรมราช ดร.ปชานนท์ ชนะราวี รอง ผอ.สพม.นครศรีธรรมราช ร่วมกับ นายวิชัย ราชธานี ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ศึกษานิเทศก์ และครู เข้าร่วมในการประชุม ณ ห้องประชุมแคแสด โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช 

.

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงเลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษา จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียนไปสู่มาตรฐานตามแนวทางการอ่าน คิดวิเคราะห์ ตามแนวทางความฉลาดรู้แบบ PISA โดยมีชุดฝึกกิจกรรมเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน ช่วยลดภาระงานครูและเพิ่มศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนและสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาใช้ในการกำหนดแนวทางการสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครื่องมือสำคัญให้กับครูผู้สอน คือการให้ครูทำความเข้าใจและสร้างกระบวนการพัฒนาการคิด ปรับเปลี่ยนแนวคิดของการจัดการเรียนรู้จากการสอนในชั้นเรียนตามปกติสู่การสร้างแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนต้องได้อะไรเป็นสิ่งติดตัวไปจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น โดยครื่องมือที่นำไปใช้มีประโยชน์และได้รับการยอมรับ นำไปสู่การวัดประเมินผลที่ทำให้สามารถบอกได้ว่า ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น  ซึ่งไม่ได้หมายถึงการคิดในสถานการณ์ที่เฉพาะในชั้นเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงการคิดในสถานการณ์ที่สามารถทำให้ผู้เรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และเชื่อมโยงความรู้ที่มีได้

.

ดังนั้น กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นมากกว่าการเรียนให้จบหลักสูตร แต่หมายถึงการเอากระบวนการคิดและนำมาต่อยอดในการใช้ชีวิตด้วย เปรียบได้กับการสอบประมวลความรอบรู้ในระดับบัณฑิตศึกษา ที่เน้นการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนมาประมวลและสรุปออกมาเป็นองค์ความรู้ที่ชัดเจน ซึ่งคล้ายกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง PISA  ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดที่พัฒนาขึ้น  

ต้องดำเนินการอย่างสมบูรณ์และต่อเนื่อง ไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ไหน แต่ทุกคนจะมีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาทั้งความรู้และความคิดที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่ 

.

“นอกจากนี้ อีกกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้กระบวนการสมบูรณ์แบบได้ คือ ผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้เรียน ส่วนคนสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการ คือ ผู้บริหารสถานศึกษา และกลไกสำคัญในระดับสูงขึ้นไปที่จะทำให้ทุกโรงเรียนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ และเป็นกลไกที่จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทั้งในส่วนของระยะเวลา และการสร้างเป้าหมายเชิงประจักษ์ที่จะทำให้เป้าหมายที่จะเกิดขึ้นมีความชัดเจน คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สิ่งเหล่านี้ คือ องคาพยพสำคัญที่จะจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เพื่อผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ มวลประสบการณ์และความรู้ที่จะติดตัวอยู่กับผู้เรียน สิ่งที่ทำในวันนี้จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียนอย่างแท้จริงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นการให้โอกาสกับผู้เรียนที่ได้รับการบ่มเพาะทางความคิดอย่างดีที่สุด เพราะผู้เรียนคืออนาคตที่จะเติบโตและพัฒนาประเทศชาติต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว