สพฐ. จับมือ กสศ. พัฒนาระบบสารสนเทศ 5 เขตพื้นที่ สร้างคุณภาพการศึกษายุคใหม่

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) “โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา Q-Info” โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 5 จังหวัด และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี ณ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

.

นายพัฒนะ กล่าวว่า สพฐ. และ กสศ. มีความร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา โดยเฉพาะเด็กยากจนหรือด้อยโอกาสมาตั้งแต่ปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแนวทางจัดการศึกษาหรือพัฒนานวัตกรรมในการดูแลช่วยเหลือเพื่อให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษา ไม่ให้หลุดจากระบบก่อนวัยอันควร หรือ zero dropout รวมถึงได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2566 กสศ. ได้ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานระบบสารสนเทศ Q-Info ที่มีโรงเรียนใช้ประโยชน์แล้วกว่า 2,000 โรง ครอบคลุมทุกสังกัด ทำให้ที่ประชุม กพฐ. มีนโยบายให้ สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทำงานร่วมกันในทิศทางที่จะขยายการทำงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและจังหวัด และจัดตั้งคณะทำงานโดยให้มีองค์ประกอบของบุคลากรส่วนงานภายในของ สพฐ. ร่วมดำเนินงานด้วย

.

ดังนั้น สพฐ. และ กสศ. จึงได้ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของข้อมูลสารสนเทศได้ในระดับต้นสังกัด โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบสำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 5 แห่ง ที่มีความพร้อมก่อน ได้แก่ สพป.กาญจนบุรี เขต 4 สพป.เชียงใหม่ เขต 3 สพป.สุรินทร์ เขต 2 สพป.ภูเก็ต และ สพป.ระนอง โดยระบบสารสนเทศ Q-Info จะเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Transformation ของกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาทั่วประเทศ ช่วยให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ด้าน มีขั้นตอนการทำงานที่รวดเร็ว สามารถมุ่งเน้นไปที่คุณภาพได้มากกว่าเก่า เป็นการช่วยลดภาระการทำเอกสารของครู ทำให้ครูได้ใช้เวลากับการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น มีข้อมูลในการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อพัฒนานโยบายในการบริหารระดับโรงเรียน และต้นสังกัดคือเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีสารสนเทศอันเป็นประโยชน์ในการบริหารงานระดับเขต

.

“การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมาก เป็นการตอบสนองนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้เรียนมีความสุข แต่ครูผู้สอนต้องมีความสุขในการทำงานด้วย ทั้งนี้ สพฐ. และ กสศ. จะได้ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว