สพฐ. ร่วมประชุมกลุ่มโรงเรียน Smart Startup School (3S) เดินหน้าพัฒนาคุณภาพแบบโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมการประชุมคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียน Smart Startup School (3S) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารของ ศธ. ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา เข้าร่วม ณ หอประชุมดุสิตาแกรนด์ฮอลล์ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร

.

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า การจัดทำกลุ่มโรงเรียน Smart Startup School (3S) ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กได้มีการนำต้นแบบจากโรงเรียนขนาดใหญ่มาปรับใช้ ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่ถือเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงที่สามารถช่วยแนะนำแนวทางแก่โรงเรียนขนาดเล็กต่อไป ขอฝากให้ตัวแทนจากสถานศึกษาไปสำรวจถึงปัญหาที่เด็กในเขตบริการไปเรียนโรงเรียนไกลบ้าน เพื่ออุดรอยรั่วของปัญหา สนับสนุนให้นักเรียนเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนของนักเรียนในสถานศึกษา นอกจากนี้ ขอฝากให้สถานศึกษา ป้องกันการตกหล่นของนักเรียน สนับสนุนให้นักเรียน “เรียนจบแล้ว มีงานทำ” ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนให้นักเรียนศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว การเปิดโอกาสให้นักเรียนศึกษาต่อในด้านอาชีวศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ถึงทักษะทางวิชาชีพ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา

.

“กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการค้นหาจุดแข็งตามบริบทของโรงเรียน สร้างแผนและนวัตกรรมในการบริหารจุดแข็งให้เป็นจุดขาย ตลอดจนการจับมือกับเครือข่ายเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำคลังสื่อการเรียนรู้ที่ใช้ร่วมกันในการจัดการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพตามแนวทางทวิศึกษา และทวิภาคี ของกลุ่มโรงเรียน 3s ที่เป็นโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 24 โรงเรียน พร้อมทั้งมีการจับคู่พัฒนาในรูปแบบโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่โรงเรียนขนาดใหญ่สามารถเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงและเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนขนาดเล็กได้ เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กพัฒนาอย่างเข้มแข็งต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

.

ทั้งนี้ ในที่ประชุมฯ ได้รับทราบการจัดทำคำสั่งคณะกรรมการบริหารกลุ่มโรงเรียน Smart Startup School (3S) และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 24 โรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อการมีงานทำตามแนวทางทวิศึกษาและทวิภาคี พร้อมจัดทำคลังสื่อการเรียนรู้สำหรับใช้ร่วมกันในการจัดการศึกษา และเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ

.

พร้อมกันนี้ ตัวแทนของสถานศึกษากลุ่มโรงเรียน 3S จำนวน 24 โรงเรียน ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียน สื่อให้เห็นถึงการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ที่ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” อาทิ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม มีการปูพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น ตั้งแต่ระดับชั้น ม.1 ส่วนชั้น ม.2-3 มีการแบ่งห้องเรียนตามความถนัดและความสนใจ และเปิดกิจกรรมชุมนุมให้แก่นักเรียนโดยเน้นไปทางด้านอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำอาหาร การถ่ายภาพ ช่างท่อ PVC เบื้องต้น โรงเรียนมักกะสันพิทยา จัดแผนการเรียนเพื่ออาชีพ หลักสูตรระยะสั้น เช่น ช่างตัดผม ช่างไฟฟ้า ช่างแอร์ ในระดับม.ต้น และจัดแผนการเรียนวิทย์-คณิต คอมพิวเตอร์กราฟิก คหกรรม ในระดับม.ปลาย โรงเรียนวัดราชาธิวาส มีการเพิ่มรายวิชาเพิ่มเติมทางด้านภาษาและหลักสูตรอาชีพระยะสั้นให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ โรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์ มีแผนการเรียน ISMT และ Talent ในระดับม.ต้น และแผนการเรียนที่เน้นการฝึกทักษะในอาชีพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ทวิภาคี ในระดับม.ปลาย โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ จัดทำห้องเรียนดนตรีคีตศิลป์ ห้องเรียนแบบผสมผสานภาษาและเทคโนโลยี ในระดับม.ต้น และมีห้องเรียนกีฬา ห้องเรียนอุตสาหกรรมบันเทิง-ดนตรี ห้องเรียนเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ในระดับม.ปลาย โรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม มีการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ-จีน ทุกห้องเรียนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ในระดับม.ต้น และมีแผนการเรียนวิทย์-กีฬา แผนการเรียนศิลป์-ดนตรี ศิลป์-ธุรกิจจีน ในระดับม.ปลาย เป็นต้น