สพฐ. ประชุม ผอ.เขต ทั่วประเทศ เน้นย้ำการผ่อนผันเครื่องแบบนักเรียน พร้อมดูแลความปลอดภัยให้ทั่วถึง

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ รับทราบนโยบายเร่งด่วน และข้อราชการต่างๆ ที่จะนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. ร่วมชี้แจงข้อราชการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา มอบนโยบายและเน้นย้ำกับ ผอ.สพท. ว่า เมื่อ สพฐ, ส่งหนังสือสั่งการแจ้งเรื่องใดๆ ไปยังเขตพื้นที่แล้ว ขอให้ทางเขตพื้นที่แจ้งไปให้ถึงโรงเรียนในสังกัดด้วย เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเขตพื้นที่ต้องมีแผนการขับเคลื่อนงาน มีข้อมูลทั้งหมดว่าเขตของเราได้รับงบประมาณอะไร จำนวนเท่าไหร่ และมีกำหนดวันเริ่มต้น จนถึงวันจบกระบวนการ เพื่อให้งบประมาณถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ขอให้ทุกเขตพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของ สพฐ. อาทิ โครงการโรงเรียนคุณภาพ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA ฯลฯ ทางเขตต้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ว่าแต่ละโครงการทำไปถึงไหนแล้ว มีความพร้อมอย่างไรบ้าง เพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่

.

“ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำในเรื่องของการออกประกาศการยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนด้วย ว่า ประกาศดังกล่าว มิใช่การยกเลิกการแต่งกายตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 แต่เป็นการเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถพิจารณา ยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกาย ให้แก่นักเรียนได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เพื่อช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ให้นักเรียนในทุกพื้นที่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

.

พร้อมกันนี้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้ชี้แจงแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยขอให้ทางเขตพื้นที่ยกระดับแผนปฏิบัติการให้เข้มขึ้น มีการรายงานผลอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ปักหมุดสถานที่จุดเกิดเหตุ จุดเสี่ยงต่างๆ และประสานกับหน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ในการออกตรวจร่วมกัน รวมถึงการตรวจหาสิ่งของอันตรายต่างๆ ในสถานศึกษา ขอให้ปฏิบัติกับนักเรียนแบบกัลยาณมิตร มีการไถ่ถามหาสาเหตุก่อน หากจำเป็นต้องลงโทษ ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 มี 4 สถาน คือ 1) ว่ากล่าวตักเตือน 2) ทำทัณฑ์บน 3) ตัดคะแนนประพฤติ 4) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเน้นการลงโทษในลักษณะที่ให้เด็กเกิดบทเรียน ตกผลึก เกิดการเรียนรู้ และก้าวเดินใหม่อย่างถูกต้อง รวมถึงสื่อสารรณรงค์ในเรื่องความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยบนท้องถนน การสวมหมวกกันน็อก ระวังอากาศร้อนจัด ระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งหากเกิดเหตุไม่ปลอดภัยขึ้น ขอให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาในทันที แต่หากเป็นเรื่องที่เกินกำลังของโรงเรียนและเขตพื้นที่ สามารถประสานมายัง สพฐ. ส่วนกลาง เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป