สพฐ. ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานคัดเลือกนักเรียน และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2566 ครั้งที่ 2/2567

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานคัดเลือกนักเรียน และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2566 ครั้งที่ 2/2567 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายชนาธิป ทุ้ยแป ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา นางลำใย สนั่นรัมย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการพัฒนาเครื่องมือวัดผล สพฐ. นางสาวพรเพ็ญ ทองสิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ดร.พิเชฎษ์ จับจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา ดร.มธุรส ประภาจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนจากหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา และผู้แทนคณะกรรมการอำนวยการของศูนย์ประสานงานการคัดเลือก ระดับกลุ่มจังหวัดที่ 1 – 13 และคณะทำงานจากสำนักทดสอบทางการศึกษา ณ ห้องประชุม สพฐ.1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ผ่าน Zoom Meeting

.

โดยการประชุมมีการพิจารณาผลการคัดเลือกนักเรียน และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2566 ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการของศูนย์ประสานงานการคัดเลือก

ระดับกลุ่มจังหวัดที่ 1 – 13 การเสนอรายชื่อสถานศึกษาที่ได้รับโล่รางวัลพระราชทาน สำหรับสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลพระราชทาน 3 ครั้ง ภายใน 10 ปี (ระหว่างปีการศึกษา 2557 – 2566) และแผนการดำเนินงานคัดเลือกนักเรียนและสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2567

.

ทั้งนี้นาง เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การคัดเลือกนักเรียนและสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน เป็นภารกิจที่มีเกียรติและเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น สมควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการประเมินและคัดเลือกนักเรียนหรือสถานศึกษานั้น คณะกรรมการต้องดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยใช้ความรู้ความสามารถและดุลพินิจในการพิจารณาตัดสินอย่างถูกต้องตามหลักการ มีใจเป็นกลาง ไม่โน้มเอียง เพื่อให้ได้นักเรียนหรือสถานศึกษา ที่สมควรได้รับรางวัลพระราชทาน

อย่างแท้จริง และไม่เปิดเผยผลการประเมินเมื่อกระบวนการยังไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ได้เน้นย้ำเรื่องวัฒนธรรมการประเมินที่ไม่พึงประสงค์ โดยให้มีความเรียบง่าย ประหยัด พอเพียง ลดความสิ้นเปลืองของงบประมาณ และไม่สร้างภาระแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้หน่วยงานต้นสังกัด ช่วยกระตุ้น สนับสนุน และส่งเสริมในการส่งนักเรียนและสถานศึกษา สมัครเข้ารับการประเมินอย่างต่อเนื่องต่อไป