สพฐ. ร่วมเสวนา มูลนิธิยุวพัฒน์ “ก้าวสู่โลกยุคใหม่ด้วยหัวใจซื่อสัตย์” เดินหน้าโรงเรียนคุณธรรม ยกระดับเด็กไทยเก่งและดี

วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมเสวนาทางวิชาการ “การจัดการศึกษาเสริมสร้างคุณธรรม เพื่อก้าวสู่โลกยุคใหม่ด้วยหัวใจซื่อสัตย์” ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่โลกยุคใหม่ด้วยหัวใจซื่อสัตย์” Shaping the Modern Landscape with Moral and Ethics Symposium 2024 จัดโดยมูลนิธิยุวพัฒน์ โดยมี นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วย นายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวรายงาน มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนคุณธรรม จำนวน 420 คน นิเทศอาสา ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีเครือข่าย จำนวน 80 คน รวมทั้งสิ้นกว่า 500 คน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ช่องทาง Facebook โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า คุณธรรมความซื่อสัตย์ เป็นนามธรรมที่อยู่ในความคิด จิตสำนึก แต่สามารถบ่มเพาะ ปลูกฝัง

ได้ โดยเลือกวิธีการสอนที่เหมาะสมกับช่วงวัย ตัวอย่างเช่น ในวัยเด็กเล็กระดับอนุบาล-ประถมต้น จะใช้เรื่องเล่าและนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ส่วนเด็กโตระดับประถมปลาย-มัธยม จะสอดแทรกบทเรียนเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ในวิชาต่างๆ หรือผ่านกิจกรรมการเรียนต่างๆ เช่น การทำกิจกรรมกลุ่มที่ต้องอาศัยความไว้วางใจ โดยมีการประเมินและให้รางวัล สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนรักษาความซื่อสัตย์ พร้อมทั้งสอนคิดวิเคราะห์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความซื่อสัตย์ สร้างบรรยากาศที่ให้เด็กนักเรียนรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความซื่อสัตย์ กล้าคิด พูด แสดงความเห็นอย่างซื่อตรงต่อความจริง ไม่ปกปิด ปิดบัง รวมถึงครูและบุคลากรในโรงเรียนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงความซื่อสัตย์ ทั้งในการทำงาน การติดต่อสื่อสาร และการแก้ไขปัญหา ซึ่งการเห็นพฤติกรรมที่ดีจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้และทำตามได้อย่างถูกต้อง

.

นอกจากนี้ สังคมที่เปี่ยมไปด้วยหัวใจซื่อสัตย์ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกฝังคุณธรรม ความซื่อสัตย์ โดย สพฐ. ได้กำหนดให้ “ความซื่อสัตย์” เป็น 1 ใน 8 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางฯ 2551 มีการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณธรรมทั้งในและนอกห้องเรียน มีการฝึกอบรมครูผู้สอน ให้มีความสามารถในการสอนด้านคุณธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีได้ พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความซื่อสัตย์ โรงเรียนมีนโยบายปลอดคอร์รัปชั่น ขณะที่บทบาทของครอบครัว ผู้ปกครองต้องมีจิตสำนึกความซื่อสัตย์ สามารถอบรม ปลูกฝังคุณธรรมแก่ลูกหลานได้ และบทบาทของสังคมและสื่อมวลชน ต้องสร้างค่านิยมความซื่อสัตย์ ในชุมชนสังคม มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ สร้างความตระหนักและความสำคัญของความซื่อสัตย์ และมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและการฉ้อโกงให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการยับยั้งและป้องกันการกระทำผิดอย่างเป็นรูปธรรม

.

“ในปี 2567 นี้ สพฐ. ได้ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โดยมุ่งการพัฒนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ตามคุณธรรมอัตลักษ์ณ์ และกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทุกโรงเรียน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 400,000 คน นักเรียน จำนวน 6,979,005 คน โดยขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม ได้แก่ 1) การสร้างคนดีให้บ้านเมือง 2) การเสริมสร้างคุณธรรม ให้ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา 3) การสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนคุณธรรม สพฐ. 4) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. และ 5) การพัฒนานวัตกรรมสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนักเรียน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ตระหนักรู้ เข้าใจ และมีกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล ซึมซับคุณค่าแห่งคุณธรรมความดีอย่างเป็นธรรมชาติ และสร้างความภาคภูมิใจในการทำความดี ตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

.

ด้านนายพะโยม ชิณวงศ์ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ มีภารกิจในการพัฒนาคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตให้แก่เยาวชน โดยใช้กระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม “4+6 โมเดล” เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน ครู ผู้บริหารของโรงเรียน เพื่อสร้างทัศนคติที่ดี มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นหลักใช้ในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสมในการดำรงชีวิตประจำวัน เน้นสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และร่วมมือส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีงาม เช่น การทำงานอย่างโปร่งใส การต่อต้านการทุจริต เป็นต้น ซึ่งจากผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน สถาบันฯ มีเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรม 492 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มากกว่า 3 แสนคน มีผู้นิเทศหรือ “นิเทศอาสา” คอยติดตามการดำเนินโครงงานของโรงเรียน 53 คน และเพื่อให้เกิดการขยายผลโรงเรียนในเครือข่ายมากขึ้น อันจะนำไปสู่การบ่มเพาะปลูกฝังคุณธรรมความซื่อสัตย์ในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้เป็นอนาคตของสังคม สถาบันและองค์กรภาคีจึงได้จัดงานประชุมวิชาการ “ก้าวสู่โลกยุคใหม่ด้วยหัวใจซื่อสัตย์” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกัน

.

นอกจากนั้น การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (Thai CG Fund) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับวิทยากร และระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วยกัน ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม พร้อมทั้งนำเสนอผลงานของนักเรียนที่ได้รับรางวัลเกี่ยวกับแนวคิดด้านคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และโครงงานคุณธรรมหรือกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมความซื่อสัตย์และคุณธรรมที่เกี่ยวข้องที่มีความโดดเด่น และเผยแพร่ผลงานการต้านทุจริตของนักเรียน และการถอดบทเรียนความสำเร็จการพัฒนาคุณธรรมความซื่อสัตย์ของโรงเรียน โดยมีวิทยากรให้ความรู้ อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย บรรยายพิเศษ เรื่อง “ช่วยกันสร้างคนดีให้บ้านเมือง” รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมเสวนาทางวิชาการ “การจัดการศึกษาเสริมสร้างคุณธรรม เพื่อก้าวสู่โลกยุคใหม่ด้วยหัวใจซื่อสัตย์” เป็นต้น