เสมา 1 หนุน สพฐ. และภาคีเครือข่าย เฝ้าระวัง-สร้างความปลอดภัยนักเรียนในกรุงเทพฯ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการเฝ้าระวังเหตุและสร้างความปลอดภัยในโครงการนักเรียนในกรุงเทพมหานครปลอดภัย โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พลตำรวจตรี ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวอรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก ผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 ผู้กำกับและรองผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน ครูและนักเรียน เข้าร่วม ณ โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร

.

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า ความปลอดภัยของนักเรียนและครู เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ จึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการรายงานวันนี้จะเห็นได้ว่าการทำงานด้านความปลอดภัยของนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และหน่วยงานทางการศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมทำงานและประสานงานกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลมาตลอด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียนในทุกมิติ มีการเฝ้าระวังนักเรียนในด้านการใช้ความรุนแรง และความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน โดย สพฐ. ได้จัดทำแผนและประสานร่วมกันในการปฏิบัติงานระหว่างสถานศึกษากับสถานีตำรวจในพื้นที่ ทั้งการตั้งไลน์กลุ่มในระดับพื้นที่จำนวน 9 กลุ่ม ซึ่งยึดพื้นที่ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 เป็นหลัก โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างทีมบริหาร สพฐ. ทีมบริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ ตำรวจในท้องที่ และสถานศึกษา ในพื้นที่รับผิดชอบ มีการจัดทำข้อมูลความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยทุกกรณี ทั้งในและนอกสถานศึกษา เพื่อประสานการสื่อสารและเฝ้าระวังเหตุร่วมกันกับตำรวจและหน่วยงานภาคี ที่สำคัญคือมีการจัดทำแผนการออกตรวจพื้นที่ตามโครงการนักเรียนในกรุงเทพมหานครปลอดภัย ครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร

.

“นับได้ว่าการจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือว่าเป็นการการกระตุ้นเตือนและยกระดับการเฝ้าระวังเหตุ ที่ทุกภาคส่วนที่ทำงานด้านความปลอดภัย ได้มาร่วมกันออกปฏิบัติการตามโครงการนักเรียนกรุงเทพมหานครปลอดภัย ซึ่งจะมีการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ต่อไป โอกาสนี้ ขอขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้กับทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในครั้งนี้ ขอให้ยึดหลัก “ทำเต็มความสามารถ อย่าประมาท พลาดไม่ได้” เพราะทุกการขับเคลื่อนของพวกเราหมายถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักเรียนทุกคน และขอให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ให้นักเรียนทุกระดับชั้น “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว

.

ด้านนายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ความปลอดภัยของนักเรียน สถิติของ สพฐ. พบว่า การใช้ความรุนแรงของนักเรียนมีแนวโน้มว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สถานศึกษาได้มีแนวทางและแผนการดำเนินการเพื่อมีมาตรการเฝ้าระวังเหตุที่จะเกิดกับนักเรียนในช่วงต่าง ๆ ทั้งในด้านการใช้ความรุนแรง การมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน การใช้สารเสพติด และการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน เพื่อให้การดำเนินการป้องปรามในเชิงรุกและเชิงสร้างสรรค์ การเตรียมการยกระดับการเฝ้าระวังเหตุเป็นพิเศษ เพื่อให้นักเรียนในกรุงเทพมหานครได้รับความปลอดภัยในทุกมิติ สร้างความอุ่นใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง สพฐ. จึงได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลขับเคลื่อนโครงการนักเรียนในกรุงเทพมหานครปลอดภัย เพื่อเฝ้าระวังนักเรียนในด้านการใช้ความรุนแรง และความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน และได้จัดทำแผนร่วมกันในการปฏิบัติงานระหว่างสถานศึกษากับสถานีตำรวจในพื้นที่ โดยมีแนวทางในการป้องกันความไม่ปลอดภัยของนักเรียนในกรุงเทพมหานคร ดังนี้

1. ตั้งไลน์กลุ่มทีมบริหารนักเรียนกรุงเทพฯปลอดภัย โดยมีคณะผู้บริหาร สพฐ. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าร่วม

2. ตั้งไลน์กลุ่มในระดับพื้นที่จำนวน 9 กลุ่ม ซึ่งยึดพื้นที่ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 เป็นหลัก โดยมีรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 ทีมบริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ ผอ.สถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) เข้าร่วม

3. จัดทำข้อมูลความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยทุกกรณีในโรงเรียน ทั้งข้อมูลสถานที่และนักเรียนในสังกัด เพื่อสื่อสารและเฝ้าระวังเหตุร่วมกันกับตำรวจ

4. จัดทำแผนที่จุดเสี่ยงบริเวณภายในโรงเรียนและบริเวณภายนอกโรงเรียนที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยแก่นักเรียน

5. จัดทำแผนการออกตรวจพื้นที่ตามโครงการนักเรียนในกรุงเทพมหานครปลอดภัย ครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร

.

“ขอขอบคุณ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่มีความห่วงใยความปลอดภัยนักเรียนทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา และตั้งใจจริงกับการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือว่าเป็นการเริ่มดำเนินการยกระดับการเฝ้าระวังเหตุ ที่มีทุกภาคส่วนที่ทำงานด้านความปลอดภัยมาร่วมกันออกปฏิบัติการตามโครงการนักเรียนกรุงเทพมหานครปลอดภัย ถือเป็นนิมิตหมายอันดีว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างรอบด้านครบทุกมิติ ด้วยหัวใจดวงเดียวกันที่มุ่งดูแลนักเรียนอย่างกัลยาณมิตร ให้นักเรียนยิ้มได้ “เรียนดี มีความสุข” ไปด้วยกัน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว