สพฐ. จัดการประชุมดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาอย่างจริงจัง

วันที่ 10 มิถุนายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1/2567 โดย นายณรงค์ศักดิ์ โพธิ์อ๋อง รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. และบุคลากรของ สพฐ. ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 6 กรุงเทพมหานคร

.

จากการประชุมฯ นี้ สพฐ. โดยศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ได้ขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นการเสริมกิจกรรมนอกหลักสูตรที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อการป้องกันยาเสพติด รวมถึงการเปิดโอกาสให้เยาวชน ได้มีส่วนร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมป้องกันยาเสพติด เพื่อป้องกันการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหา ยาเสพติด ตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยทาง สพฐ. ได้ดำเนินกิจกรรม อาทิ

1. พัฒนา ปรับปรุง และควบคุมดูแลพื้นที่เสี่ยงในสถานศึกา มิให้ใช้เป็นสถานที่มั่วสุมเสพยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ เล่นการพนัน หรือการก่อเหตุที่ไม่สร้างสรรค์

2. ปรับปรุงห้องเพื่อจัดทำห้องมั่นคง จัดทำกริ่งหรือสัญญาณพิเศษที่มีความแตกต่างจากสัญญาณทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษา ในกรณีเมื่อเกิดเหตุบุคคลพกพาาวุธเข้ามาบุกทำร้ายนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา

3. ทบทวนแผนเผชิญเหตุและป้องกันเหตุในระดับสถํนศึกษา (หนี ซ่อน สู้) รวมถึงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในสถานศึกษา ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อให้สามารถจัดการและป้องกันเหตุได้อย่างทันต่อสถานการณ์

4. กรณีประสบเหตุ หรือได้รับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาให้ปฏิบัติตามมาตรการกำกับติดตามและรายงานเหตุความไม่ปลอดภัย ของนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเคร่งครัด

.

นายธีร์ ภวังคนันท์ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคม

และประเทศชาติ มีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตของคนทุกช่วงวัยจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ยาเสพติด ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ภัยจากโรคอุบัติใหม่และภัยจากไซเบอร์ เป็นต้น สพฐ. จึงได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีของโลกการส่งเสริมการเรียนรู้ และเพื่อเป็นการพัฒนาการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้มีทักษะ เทคนิค วิธีการศึกษา วิเคราะห์สภาพการดำเนินงาน การจัดทำรายงาน รูปแบบหรือนวัตกรรม หรือวิธีการในการดำเนินงานคุ้มครองดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

ยาเสพติดอย่างชัดเจน และเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม การเฝ้าระวังและส่งแสริมความประพฤตินักเรียน การคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน/กลุ่มเสพ/ติด โครงการ TO BE NUMBER ONE การป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติด (เหล้า/บุหรี่) ให้สามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางที่กำหนด จึงได้ให้ดำเนินการจัดประชุมในครั้งนี้ขึ้น และขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้การพัฒนาการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพต่อไป

.

ทั้งนี้ในการประชุมยังมีการหารือและแสดงความเห็นต่างๆ จากผู้เข้าร่วมการประชุม อาทิ การรายผลการดำเนินงานด้านยาเสพติด การดำเนินการโครงการ TO BE NUMBER ONE การดำเนินการ และผลการดำเนินงานการป้องกัน ควบคุม และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าและการพนันออนไลน์ แต่งตั้งคณะทำางานดำาเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในห้วง 4 เดือนหลัง เป็นต้น