เสมา 2 ร่วมหารือ สพฐ. เล็งปรับโครงสร้างเขตพื้นที่ พัฒนาคุณภาพบุคลากร

.

วันที่ 10 มิถุนายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมทั้งมอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นายนิพนธ์ เบญจกุล ผู้แทนเลขาธิการ ก.ค.ศ. นายนิยม ไผ่โสภา ผอ.สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 10 กลุ่ม และบุคลากรของ สพฐ.
ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 70 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 2 โรงเรียนราชวินิตมัธยม กรุงเทพฯ

.

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้มารับฟังข้อเสนอของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ ในการขับเคลื่อน ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน กำกับดูแล ติดตามและประเมินผลสถานศึกษาในสังกัด ให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เป็นโช่ข้อกลางที่เชื่อมโยงนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสู่สถานศึกษา และขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ เกิดคุณภาพแก่ผู้เรียน โดยเป้าหมายสำคัญ
ในการมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คือการบริหารจัดการระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ และเมื่อนโยบายสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว นั่นหมายความว่า การพัฒนาการศึกษาของ ศธ. สามารถพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้น การบริหารจัดการเพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นองค์กรคุณภาพ จึงเป็นกลไกหลักในการปรับรูปแบบวิธีการทำงานให้ทันสมัย เพื่อก้าวไปสู่แนวนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม บุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต้องได้รับการพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความเป็นผู้นำ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
อยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องเป็นที่พึ่งให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาด้วย

.

“ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างเขตพื้นที่ฯนั้น หากพบปัญหาเกิดขึ้นเราต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สุขของผู้ปฏิบัติงานทั้งนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับทราบปัญหาและต้องการให้การปรับแก้กฎหมายดำเนินการเสร็จสิ้นในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงนำเข้าไปปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการการศึกษาด้วย ซึ่งประเด็นหลักที่หารือกันครั้งนี้
คือ เรื่องอัตรากำลังที่ขาดแคลนและความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยเราจะปรับแก้ไขอัตรากำลังให้ โดยจะทำข้อมูลเสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) เพื่อขอเกลี่ยอัตรากำลัง รวมถึงจะนำข้อเสนอในการปรับแก้
ระเบียบ ศธ. ที่เกี่ยวข้องไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ในภูมิภาคด้วย
เพื่อให้สำนักงานปลัด ศธ. และ สพฐ. ได้วางแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย” รมช.ศธ. กล่าว

.

ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการไว้ 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา โดยในระดับเขตพื้นที่การศึกษา แบ่งออกเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 เขต รวมทั้งสิ้น 245 เขต ซึ่งในแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แบ่งส่วนราชการภายในเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มบริหารงานการเงินและสินทรัพย์ กลุ่มบริหารงานบุคคล กลุ่มพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา หน่วยตรวจสอบภายใน และกลุ่มกฎหมายและคดี แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าว ยังมีปัญหาอุปสรรคบางประการที่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและความก้าวหน้าทางวิชาชีพ
ของบุคลากร ทั้งนี้ สพฐ. จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในการทบทวนโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนแนวทางการจัดกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสม
เพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สอดรับกับการปฏิบัติงานจริง นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่มีประสิทธิภาพต่อไป