สพฐ. นำสื่อการสอนเทคโนโลยี สร้างแรงจูงใจให้เด็กเรียนรู้ประวัติศาสตร์

วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เข้าร่วมนำเสนอนิทรรศการโครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) เรียนรู้ประวัติศาสตร์รักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ และโครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย การอ่านการเขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเห็นความสำคัญ และคุณค่าของประวัติศาสตร์ด้วยเทคโนโลยี โดยมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครู นักเรียน โรงเรียนอนุบาลสามเสน และโรงเรียนพญาไท ร่วมนำเสนอ สาธิตการสร้างสื่อ และการใช้สื่อ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมุ่งส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาความคิด ปลูกฝังจิตสำนึกความภูมิใจ ในความเป็นไทย โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ หรือวิชาศีลธรรม อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของกลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จากเดิมที่จัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของครูส่วนใหญ่สอนแบบบรรยาย ขาดสื่อเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ส่งผลให้นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียน ขาดโอกาสในการฝึกทักษะคิด และการพัฒนาการรับรู้ความรู้สึกทางประวัติศาสตร์ ครูจึงมีความจำเป็นต้องปรับการสอนสาระวิชาประวัติศาสตร์อย่างเร่งด่วน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยและประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุก ใฝ่รู้ และมีความร่วมสมัยเพื่อให้นักเรียนเกิดความซาบซึ้ง เห็นคุณค่าของความเป็นไทย ปลูกฝังให้เยาวชนมองเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ เกิดความรัก ความภูมิใจในประเทศ และมีทัศนคติที่ดี เกิดความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

“การนำสื่อดังกล่าวมาปรับใช้กับครูและนักเรียนจึงได้เห็นมิติของการเปลี่ยนแปลง คือ ความสุขร่วมกันของครูและเด็กในชั้นเรียน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเน้นให้ดำเนินการนโยบายที่สำคัญ คือ “การสร้างจิตสำนึก เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีความเป็นไทย” ผ่านการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ด้วยนโยบายเสริมสร้าง “การอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย” โดยส่งเสริมให้ สพฐ. ร่วมกับสถาบันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินการเพื่อพัฒนา และปรับมุมมองในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนในการสร้าง พัฒนา และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอนในอนาคต ครูมีความสุข นักเรียนสนุก และมีความอยากรู้ ค้นหา และค้นคว้า ซึ่งจะสอดคล้องกับการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์เกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” รมช.ศธ. กล่าว

ทางด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สพฐ. ได้ดำเนินการส่งเสริม พัฒนาครูผู้สอนประวัติศาสตร์และครูผู้สอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีจุดประสงค์สำคัญในการพัฒนาครูให้นำเทคโนโลยีมาปรับและประยุกต์ใช้สื่อเทคโนโลยี และนำสื่อการเรียนการสอน เกมต่างๆ หรือ คลิปวิดีโอ มาใช้เป็นนวัตกรรมในการสื่อสารวิชาประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เหมาะกับวัยของนักเรียน ซึ่งการจัดนิทรรศการครั้งนี้ได้นำเสนอสื่อเทคโนโลยีร่วมสมัย จำนวน 2 รายการ ได้แก่ นิทรรศการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มุ่งเน้นการใช้สื่อสำหรับครูเพื่อจัดการเรียนการสอนโดยประยุกต์ใช้ Application เพื่อเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์จากธนบัตรในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 10 และมีเกมการศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนเรื่องราวที่ได้เรียนรู้จากธนบัตร ร่วมกับการประยุกต์ใช้สื่อเทคโนโลยีในการพัฒนาเนื้อหาอื่นๆ ต่อไป และอีกนิทรรศการที่สำคัญคือการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย การอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย โดยบอกเล่าเรื่องราวจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน 10 ตอน ได้แก่ เรื่อง การรถไฟ การสื่อสาร ถนนการบิน ชุดราชปะแตน วิวัฒนาการการศึกษาไทย ละครพันทางสู่ภาพยนตร์ วิถีการรับประทานอาหารของไทย วัฒนธรรมการกินอาหารริมทาง และการเข้ามาของน้ำแข็ง ใช้สำหรับนำเข้าสู่บทเรียนและประกอบการสอนประวัติศาสตร์ของครู ซึ่งสื่อต่าง ๆ ที่เป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนของครู และส่งเสริมการต่อยอดในการวางแผนการจัดการเรียนการสอนของครู ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียนการสอนให้แพร่หลาย

“ขณะนี้การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการสอนด้วย AR และคลิปวิดีโอผ่านการสื่อสารร่วมสมัย อยู่ในช่วงการทดลองใช้ ซึ่งพบว่าครูและนักเรียนกับโรงเรียนในระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ และโรงเรียนโยธินบูรณะ ระดับชั้น ม.1-3 มีความสนใจและตอบรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักเรียนสนุกสนานกับการใช้สื่อและเรียนรู้ ในด้านครูผู้สอนประวัติศาสตร์ได้มีการจัดอบรมการสร้างสื่อ AR ไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 80 คน ทั้งนี้จะมีการต่อยอดของการอบรมครูโดยการจัดประกวดทำสื่อ AR ประวัติศาสตร์ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว