สพฐ. ประชุมปฏิบัติการบรรณาธิการกิจและจัดทําเกณฑ์คุณภาพเครื่องมือเพื่อวินิจฉัย ความสามารถด้านการอ่านของนักเรียน ป.1 และความสามารถด้านภาษาไทย ด้านคณิตศาสตร์ ป.3

วันที่ 22 ธันวาคม 2563 นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการบรรณาธิการกิจและจัดทําเกณฑ์คุณภาพเครื่องมือเพื่อวินิจฉัย ความสามารถด้านการอ่านของนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และความสามารถด้านภาษาไทย ด้านคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 21 – 24 ธันวาคม 2563 เพื่อตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไขความถูกต้องเหมาะสมของข้อสอบ ก่อนนําไปให้บริการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อํานวยการสํานักทดสอบทางการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ครูที่ร่วมเป็นคณะทํางานในการสร้างแบบทดสอบ สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสังกัดอื่นๆ ศึกษานิเทศก์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการศึกษา จากสํานักทดสอบทางการศึกษา จํานวน 70 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมแจสโซเทล ถนนประชาอุทิศ กรุงเทพมหานคร

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง นโยบายและจุดเน้นของ ศธ. ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจุดเน้นที่ 1 การพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการจัดการศึกษาเชิงรุก การวัดและ ประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ ส่งเสริมและพัฒนากรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น และระดับสถานศึกษาตามความต้องการจําเป็นของกลุ่มเป้าหมาย และแตกต่างหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ พัฒนาผู้เรียนให้มี ทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดการศึกษาเชิงรุกจากประสบการณ์จริง หรือสถานการณ์จําลองผ่านการลงมือปฏิบัติ พัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้และทักษะชีวิต เพื่อเป็นเครื่องมือในการดํารงชีพ และสร้างอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ปีงบประมาณ 2564 – 2565 ของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในด้านคุณภาพ ที่มีจุดเน้นที่ 3 ด้านคุณภาพ ข้อ 3.2 พัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ การคิดขั้นสูง

ดังนั้น สพฐ. โดย สํานักทดสอบทางการศึกษา จึงได้สร้างแบบทดสอบมาตรฐาน ในระดับชั้นและกลุ่มสาระ การเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อรองรับการประเมิน พร้อมนําเครื่องมือดังกล่าวไปเก็บข้อมูล ภาคสนามในภูมิภาคต่าง ๆ โดยได้จัดประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อหารือผู้ทรงคุณวุฒิ ศึกษานิเทศก์ และอาจารย์มหาวิทยาลัย ในการให้คําปรึกษา ตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไขความถูกต้องเหมาะสมของข้อสอบ ทั้งข้อคําถาม ตัวเลือก ตัวเฉลยพร้อมเหตุผลประกอบการเฉลย และกําหนดเกณฑ์ คุณภาพ (จุดตัดของคะแนน) ของแบบทดสอบ ก่อนนําไปให้บริการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป