สพฐ. ประชุมทางไกลชี้แจงการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง

วันที่ 12 มกราคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศได้รับทราบ โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. อาทิ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการจัดการศึกษา ร่วมชี้แจงแนวทางการบริหารในส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม DOC อาคารสพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เป็นการตอบโจทย์การศึกษาได้อย่างตรงจุด เพราะในปัจจุบันเราสามารถจัดการศึกษาได้ครอบคลุมทุกจังหวัด แต่ยังขาดในเรื่องของคุณภาพ หากเราต้องการพัฒนาคนเพื่อให้คนมาพัฒนาชาติ คนก็จะต้องมีความรู้และมีงานทำ ดังนั้นหากจะขับเคลื่อนนโยบายจึงต้องใช้จังหวัดเป็นฐานในการเปลี่ยนแปลง โดยการจัดการศึกษาต้องครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ชั้นมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย และอาชีวะ ซึ่งหน่วยงานที่จัดการศึกษามีทั้ง สพฐ. เอกชน อาชีวะ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อมีหลายหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน จึงเป็นหน้าที่ของ สพฐ. ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุน โดยเน้นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว นำมาพัฒนาให้ดีขึ้น

ในการพัฒนาโรงเรียนระดับประถมศึกษานั้น เราต้องการสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพใน 2 รูปแบบ ได้แก่ โรงเรียนแบบ stand alone ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนเกาะแก่ง บนดอย หรือในพื้นที่ที่เดินทางลำบาก รวมถึงโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลแต่ยังไม่สามารถรวมกับใครได้ และโรงเรียนที่จะยกระดับให้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน ส่วนโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองนั้นให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ในการจัดการ โดยทำแผนที่แสดงถึงโรงเรียนที่จะรวมให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และกำหนดว่าจะมีโรงเรียนที่เป็นตัวหลักกี่โรงเรียน ในเขตพื้นที่ไหนบ้าง เมื่อทำแผนที่เรียบร้อยแล้วให้เตรียมทำกรอบคำของบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนา ซึ่งรวมทั้งสิ่งก่อสร้าง อาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ต่างๆ โดยจัดลำดับว่าจะทำอะไรก่อน-หลังให้ครอบคลุมเต็มพื้นที่ เมื่อทำเสร็จแล้วให้แต่ละเขตนำมารวมกันเป็นภาพรวมของจังหวัด โดยให้สำนักงานฯเขต 1 เป็นตัวหลัก เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากนั้นเมื่อผ่าน กศจ. แล้วให้ส่งเรื่องมาที่ สพฐ. เพื่อทำการวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญ เพื่อที่ สพฐ. จะได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) ต่อไป

“การทำงานในครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ความตั้งใจของพวกเราทุกคน ซึ่งงานนี้จะเป็นงานที่พิสูจน์ศักยภาพของการมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตอยุ่ภายในพื้นที่ ตนเชื่อมั่นว่าหากงานนี้ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ จะเป็นหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า ทำไมเราถึงต้องมีผอ.เขต และมีสำนักงานเขตพื้นที่ โดยสำนักงานเขตพื้นที่เป็นผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างสมบูรณ์แบบตามบริบทของตัวเอง ตนจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมนโยบายเข้ากับฝ่ายปฏิบัติ ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในภารกิจงาน และให้ทุกคนได้ทำงานอย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว