วันที่ 24 กันยายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมเวทีระดมสมองออนไลน์ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาต่างๆ อาทิ รศ.ดร.สฎายุ ธีระวณิชตระกูล คณบดีคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา นายภาคินัย สุนทรวิภาต ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตบางนา นายร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม นางสาวกัลยลักษณ์ ขำพิศ ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนวัดไตรรัตนาราม (ชื่นชูใจราษฎร์อุทิศ) นางเอกกมล ทรัพย์ธนะอุดม นักวิจัยมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ เพื่อพัฒนาการศึกษาและวิจัย และนางสาวทัศนารีย์ วิเศษรจนา นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์สังคมไทย สังคมโลก” โดยถ่ายทอดสดผ่านทางสื่อออนไลน์เพื่อให้สาธารณชนได้รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลง 12 นโยบายการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนโยบายการจัดการศึกษาข้อที่ 1 คือ การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย และวาระเร่งด่วนวาระที่ 2 คือ การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมเวทีระดมความคิดกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในวันนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ ได้จัดทำกรอบแนวคิดพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเปิดรับสมัครโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีความสมัครใจเพื่อดำเนินการทดลองใช้กรอบหลักสูตรใหม่ ปรากฏว่ามีโรงเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมการทดลองใช้หลักสูตรรวมทั้งสิ้น 267 โรงเรียนใน 8 จังหวัด และครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน ในการพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ให้มีความชัดเจน เหมาะสม และสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพสูงสุด และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 จึงได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนใน 3 ทาง คือ 1) จัดเวทีระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นจำนวน 7 ครั้ง จากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรด้านการศึกษา กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มนักเรียน/เยาวชน กลุ่มครู กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มอาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กลุ่มผู้ประกอบการเอกชน 2) รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนร่วมในการทดลองหลักสูตรในพื้นที่นำร่อง จำนวน 267 โรงเรียน และ 3) รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามผ่านทางเว็บไซต์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเวทีระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ถือเป็นเวทีแรกในการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาหลักสูตร
“ขอบคุณผู้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทีมพัฒนาหลักสูตรได้นำข้อคิดเห็นที่ดีเหล่านี้ไปพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาสังคมไทย ดิฉันตระหนักดีว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานคือภารกิจที่สำคัญยิ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นเราจะร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านการศึกษาแบบเดิมที่เต็มไปด้วยตัวชี้วัด มุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยน “ห้องเรียน” เป็น “ห้องเรียนรู้” ที่ผู้เรียนเข้าใจ ทำเป็น เห็นผลลัพธ์ และเด็กทุกคนมีโอกาสในการค้นพบเป้าหมายของตนเอง ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน และมี “ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ” หรือ “TRUST” จากทุกภาคส่วนของสังคมต่อกระทรวงศึกษาธิการ จึงจะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามที่ รมว.ศธ. ได้กล่าวมานั้น การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นนโยบายของ รมว.ศธ. แล้ว ยังเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมไทยปัจจุบันที่ต้องการสร้างเด็กไทยที่มีคุณลักษณะตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ หรือการสร้างคนไทยยุคใหม่ที่เป็นต้นแบบของประชากรโลกที่มีคุณภาพ ซึ่งวันนี้ทุกคนคงมีเป้าหมายเดียวกันว่าเราอยากเห็นคนไทยที่มีสมรรถนะสูง เมื่อพูดถึงสมรรถนะและหลักสูตรการศึกษาแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับ เพราะหัวใจสำคัญคือการปรับหลักสูตรที่จะนำไปพัฒนาเด็ก นี่คือความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพูดถึงเรื่องสมรรถนะเราจะช้าไม่ได้ เราต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะหากเราปรับหลักสูตรช้า การพัฒนาเด็กในด้านสมรรถนะก็จะช้าไปด้วย
วันนี้ผมคิดว่าสังคมไทยและสังคมโลกไม่ต้องการแค่ความรู้ทางวิชาการ ปัจจุบันในทุกอาชีพต้องการคนที่ทำงานเป็นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากเราต้องการให้คนไทยทุกคนมีคุณสมบัติเช่นนั้น เราก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เขาไปสู่จุดนั้นให้ได้ ผมคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะเปลี่ยนแปลงคนไทยให้มีคุณลักษณะตอบโจทย์ความต้องการของสังคม เรามีความคาดหวังอยากเห็นหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ต่อยอดจากหลักสูตรในอดีตโดยเพิ่มในเรื่องทักษะที่ต้องรู้ ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากที่ผมได้ดูกรอบหลักสูตรที่ทางคณะกรรมการฯ ได้ยกร่างมา เรามีทั้งกรอบที่เป็นส่วนเนื้อหาและกรอบที่เป็นส่วนของสมรรถนะที่อยากให้เกิดขึ้นภายใต้หลักสูตรนี้ หากเราต้องการพัฒนาเด็กให้มีทักษะดังกล่าว หลักสูตรต้องดีและมีคุณภาพ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนต้องมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือการวัดและประเมินผลที่ตอบโจทย์เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ ด้วยปัจจัย 3 ส่วนนี้เราก็จะได้หลักสูตรที่มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาคนไทยในอนาคต
“สิ่งที่เราได้ระดมความคิดในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน ทำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ปรับปรุงการเรียนการสอนของนักเรียน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สังคมต้องการคือการมีงานทำที่ตอบโจทย์สังคมและโลกให้สามารถเกิดขึ้นได้ โดยการปรับหลักสูตรครั้งนี้คงไม่ใช่การเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เป็นการต่อยอดหรือเน้นในสัดส่วนที่เรายังขาดหายไปในหลักสูตรเก่า ให้ผู้เรียนเกิดทักษะ เกิดความรู้ความสามารถ และทำได้เก่งมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยหรือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดหลักสูตรที่สมบูรณ์และมีคุณค่าจะต้องสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและผู้ใช้หลักสูตร ซึ่งทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตรงจุดนี้ จากการระดมความคิดร่วมกันก็เหมือนเราได้พิมพ์เขียวที่ดีและกรอบแนวคิดที่ดีมาเป็นแนวทาง ทางคณะกรรมการฯ ก็จะนำเอาข้อเสนอแนะไปปรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้มาร่วมเสวนาในวันนี้ ซึ่งข้อคิดเห็นของทุกคนจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาต่อไปในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขณะที่ ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรฯ กล่าวว่า การปรับหลักสูตรเป็น 6 สมรรถนะจากเดิมที่มี 5 สมรรถนะ เนื่องจากเรื่องของสมรรถนะเป็นพลวัต เราต้องปรับไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นมาจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันประชาชนจำเป็นต้องรู้สมรรถนะในส่วนนี้ สำหรับสมรรถนะ 6 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน สมรรถนะเหล่านี้จะทำให้เด็กคิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า ซึ่งเราได้พยายามทำอย่างรอบคอบ เพราะเราต้องการเติมเต็มให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม ได้เรียนรู้สิทธิเสรีภาพของตนเอง และมีส่วนร่วมในสังคมแบบมีวิจารณญาณ นอกจากนั้น รมว.ศธ. ยังได้เสริมในเรื่องของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นไทย ให้เด็กมีความคิดเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างสันติวิธี รวมทั้งมีจิตวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์นวัตกรรม ถนอมธรรมชาติให้อยู่กับเราไปนานๆ และเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งของประเทศไทยและของโลก
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงาน เมื่อเดือนสิงหาคมเราได้ทำการยืนยันกับโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการนำร่องในการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ใน 8 จังหวัดของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อมาในระหว่างเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะรับฟังความคิดเห็นใน 3 ทาง คือ จากโรงเรียนที่ได้ทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร รวมถึงมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งในครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรก และมีการเปิดรับฟังจากเว็บไซต์ CBE Thailand ที่จะเปิดตัวในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันในช่วงต้นเดือนกันยายน ทางคณะกรรมการฯได้เห็นชอบร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 โดยให้ทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนนำร่อง จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 เราจะรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ในส่วนนี้เราต้องมีความรอบคอบเนื่องจากว่าเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนบางโรงในเขตพื้นที่สีแดงอาจจะยังไม่พร้อมในการใช้หลักสูตรใหม่ เราจึงเปิดรับสมัครโรงเรียนที่สมัครใจ มีความพร้อมและอยากจะทำตรงนี้ ซึ่งเราจะประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรใหม่นี้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จากนั้นในเดือนมีนาคมเราจะทำการสรุปผลวิจัยและการรับฟังความคิดเห็นแล้วนำไปปรับปรุงหลักสูตร เพราะฉะนั้นทุกเสียงที่ได้แสดงความคิดเห็นเข้ามาเป็นเสียงที่มีค่า ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตครู เช่น คณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ ทุกเสียงต่างก็มีคุณค่าในการนำไปปรับหลักสูตรให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“สุดท้ายในส่วนของการปรับใช้หลักสูตร ในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 เราจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม จากนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 จะใช้หลักสูตรใหม่ในระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม และโรงเรียนประถมศึกษาที่เหลือ จากนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 เราจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะครบทุกโรงเรียน ดังนั้นเราจะใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งในขณะนี้ร่างกรอบหลักสูตรระดับประถมศึกษาของช่วงชั้นแรกได้จัดทำเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการวิพากษ์ที่จะจัดขึ้นในทุกวันเสาร์ที่จะนำมาประกอบการปรับ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด รวมทั้งมีการนำข้อมูลจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ นำมาทบทวนและปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยต่อไป” ดร.สิริกร กล่าว