วันที่ 30 กันยายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นสักขีพยานพร้อมประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โครงการ “อายิโนะโมะโต๊ะ โภชนาการเพื่อเด็กไทย ก้าวไกลสร้างชาติ เพื่อก่อสร้างโรงอาหารให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน 50 แห่งภายใต้ สังกัด สพฐ. พร้อมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านอาหารและโภชนาการ รวมทั้งให้การสนับสนุนสื่อความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ ในรูปแบบหนังสือและอีเลิร์นนิ่งให้กับครูและบุคลากรในโรงเรียน โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมคณะผู้บริหาระดับสูง ของ สพฐ. ร่วมลงนามกับ นายศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ พร้อมกรรมการมูลนิธิฯ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ เปิดเผยว่า มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นองค์กรที่ดำเนินการโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษาและสนับสนุนด้านอาหารและโภชนาการของเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อโครงการเดิม คือ โครงการ “อายิโนะโมะโต๊ะ โภชนาการเพื่อเด็กไทย ก้าวไกลสร้างชาติ” กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสานต่อความร่วมมือและเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างภาวะโภชนาการ และสุขภาพที่ดีให้เด็กไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ร่วมลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2558 แล้ว มูลนิธิฯ ก็ยังคงเล็งเห็นความสำคัญในการวางรากฐานโภชนาการและวิธีปฎิบัติที่ดีให้เด็กๆและบุคลากรในโรงเรียน อันจะนำไปสู่พัฒนาการที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะมุ่งมั่นและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) กล่าวว่า การร่วมลงนามในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับเยาวชนไทยอย่างแท้จริง และจากการทำงานร่วมกันในโครงการทั้ง 2 ระยะที่ผ่านมา ก็เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่องค์กรในภาคเอกชน ได้เข้ามาร่วมดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยปัจจุบันจากข้อมูลของเราพบว่า เด็กที่อยู่ในสภาวะทุพโภชนาการทั่วประเทศมีเป็นจำนวนมาก และยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ขาดแคลนอาคารโรงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่สามารถครอบคลุมถึงความต้องการดังกล่าวได้
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม โครงการ ระยะที่ 3 นี้ มีขึ้นเพื่อสานต่อการดำเนินงานจากโครงการ ระยะที่ 2 โดยจะขยายการสนับสนุนการก่อสร้างโรงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กับโรงเรียนที่ขาดแคลนให้ครบ 183 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้านอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน ระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2568 จำนวนเงิน 130,000,000 บาท แบ่งเป็น สนับสนุนงบก่อสร้างโรงอาหาร จำนวน 50 แห่ง ๆ ละ 2,200,000 บาท รวม 110,000,000 บาท สนับสนุนงบประมาณการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ จำนวน 10,000,000 บาท และสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการ จำนวน 10,000,000 บาท โดยเมื่อเสร็จสิ้นโครงการทั้ง 3 ระยะแล้ว เด็กนักเรียนไทยกว่า 30,000 คน จะได้รับโภชนาการที่ดี ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และเติบโตเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพเพื่อช่วยสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป