เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่รุดเยี่ยมโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบของประเทศเมียนมา ตามแนวชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

วันที่ 14 มกราคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยนายบุญรักษ์ ยอดเพชร คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านแม่โกนเกน และโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ตาวกลางมิตรภาพที่ 26 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 ในฐานะเป็นศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย โดยตรวจดูหลุมหลบภัยภายในโรงเรียน พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบของประเทศเมียนมา ตามแนวชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีนายปิลัทธ์ อุดมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ร่วมรายงานสถานการณ์ให้คณะฯได้รับทราบ

นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า ในวันนี้ผมได้มาเยี่ยมและให้กำลังใจ ครู นักเรียน พี่น้องโรงเรียนบ้านแม่โกนเกน และโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ตาวกลางมิตรภาพที่ 26 ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์การสู้รบดังกล่าวได้ส่งผลมาถึงฝั่งตรงข้ามชายแดนในฝั่งไทย ทำให้นักเรียนและครูโรงเรียนบ้านแม่โกนเกน ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดได้รับผลกระทบโดยตรง อีกทั้งเมื่อสองวันก่อน มีเหตุการณ์กระสุนบางชนิดจากฝั่งเมียนมาได้ข้ามฝั่งมายังฝั่งไทย ทำให้ครูและนักเรียนเกิดความวิตกกังวล จึงได้มีการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อรับทราบข้อมูล ความเคลื่อนไหว ตลอดจนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการป้องกันและแผนเผชิญเหตุ หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นต่อครูและนักเรียน เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้ครูและนักเรียน มีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งจุดที่เราเดินทางมาดูในวันนี้เป็นจุดสำหรับรองรับนักเรียนที่เป็นเด็กเล็ก ชั้นป.1-3 หากเกิดเหตุรุนแรงก็จะเป็นที่หลบภัยชั่วคราวได้ ในส่วนของเด็กโต ชั้นป.4-6 และม.1-3 จะเรียนในอาคารที่เป็นจุดปลอดภัยอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วงตรงนี้ นอกจากนั้น เราได้มาดูพื้นที่จริงเพื่อประเมินสถานการณ์การป้องกันและแผนรับมือฉุกเฉินของโรงเรียนด้วย ซึ่งจากการรายงานของผู้อำนวยการโรงเรียน และฝ่ายความมั่นคงทางทหาร ทำให้อุ่นใจได้ว่าสถานการณ์สู้รบดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดความประมาท เราจะเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไขครับ

ประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังมีการแพร่ระบาดของสายพันธ์ใหม่อยู่ในขณะนี้ สำหรับการจัดการเรียนการสอนของเด็กเล็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่สามารถเรียน On-Site ได้ เราแนะนำคุณครูให้ปรับใช้วิชาที่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และวิชาที่เป็นทักษะในการดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขมาสอนให้กับเด็กก่อน ส่วนเด็กโต สามารถเรียนแบบ Online และ On-Demand ได้ เนื่องจากสามารถอ่านออกเขียนได้ พร้อมทั้งมีเครื่องมือและทักษะทางเทคโนโลยีที่ดี

นอกจากนี้ได้เสนอแนะให้ทางโรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเล็ก โดยการสอนให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองจะนำไปสอนให้กับลูกๆ ต่อ หรือที่เราเรียกว่า “ปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” ก็จะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างเต็มที่

“ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 เรามีการสอนอยู่ 5 รูปแบบ คือ On-Site, On-Air, Online, On-Hand และ On-Demand แต่เราค้นพบว่าการเรียนที่ดีที่สุดคือการเรียนที่โรงเรียน (On-Site) เพราะนักเรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครู ได้มีการพัฒนาเชิงสังคม บวกกับการศึกษาเรียนรู้ก็จะทำให้เกิดทักษะชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งจากนโยบายการให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ได้ช่วยลดการแพร่ระบาดลง จึงอยากให้โรงเรียนที่สอนในชั้นมัธยมได้กลับมาเรียนแบบปกติ เพราะจากตัวเลขการระบาดและการติดเชื้อที่ลดน้อยลง หากได้รับวัคซีนแล้วโอกาสในการติดเชื้อและแพร่ระบาดก็จะลดน้อยลง และไม่เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อย. ได้อนุญาตการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี สพฐ. จึงได้ดำเนินการสำรวจและขออนุญาตคำยินยอมจากผู้ปกครองให้นักเรียนมาฉีดวัคซีนให้มากๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสมาเรียนที่สถานศึกษาต่อไป” นายอัมพร กล่าว