สพฐ. ร่วมงานเสวนา Dove#LetHerGrow “สร้างอนาคตให้เด็กไทย เติบโตในแบบที่ดีที่สุดของตัวเอง”

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 4 พฤษภาคม 2565) นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมงานเสวนาระดมความคิด ในหัวข้อ “Dove#LetHerGrow : สร้างอนาคตให้เด็กไทย เติบโตในแบบที่ดีที่สุดของตัวเอง” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการร่วมหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านตัวแทนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงทิศทางและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกฎระเบียบในโรงเรียน เพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม นางสาวผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายพัฒนาตลาด ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดฟ ในฐานะแบรนด์ที่ริเริ่มแคมเปญ #LetHerGrow ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ร่วมนำเสนอมุมมอง จากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ดร.กัลยารัตน์ เมธีวีรวงศ์ ประธานฝ่ายการฝึกอบรม สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแชร์มุมมอง ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับครูและโรงเรียน และนางสาวซาร่า-รัศมี สท๊วต นักแสดงในแคมเปญโฆษณา Dove#LetHerGrow และในฐานะตัวแทนเยาวชน ร่วมแชร์ประสบการณ์ต่อกฎการลงโทษตัดผมนักเรียน

โดยนางสาวผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ กล่าวว่า หลังจากที่โดฟ เปิดตัววิดีโอแคมเปญ #LetHerGrow ได้เกิดกระแสการพูดถึงในเชิงบวกอย่างมากในโซเซียล มีเดีย นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประเด็นกฎการลงโทษตัดผมเด็กนักเรียนอีกมากมาย โดยไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้าง ความตระหนักนี้เท่านั้น แต่เรายังมองหาแนวทางแก้ไข ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างอนาคตที่ช่วยให้เด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศได้เติบโตขึ้นในแบบที่ดีที่สุดของพวกเขา เราจึงเป็นสื่อกลางจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน เพื่อเด็กๆ ของเรา โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มุมมองและความเห็นที่เกิดจากงานเสวนาในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ มองเห็นว่ากฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้ลดทอนแค่ความยาวของเส้นผมของเด็กนักเรียน  แต่ลดทอนความมั่นใจและตัวตนของพวกเขาอีกด้วย ทั้งนี้ ในระยะยาว โดฟจะมีการขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 ปี ผ่านกองทุน Growth Fund (เดอะ โกรธ์ ฟันด์) จำนวน 10,000,000 บาท เพื่อใช้ในงานศึกษาวิจัย การให้ความรู้ผ่านผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกับโรงเรียนและนักการศึกษา อีกด้วย