สพฐ. หนุนเครือข่ายสถานศึกษา ร่วมพัฒนาระบบประกันคุณภาพสถานศึกษา เข้มแข็งทุกระดับในพื้นที่

วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการประสานแผนส่งเสริมเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษา และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษากับหน่วยงานที่กำกับดูแลทุกระดับด้วยรูปแบบผสมผสานทั้งแบบ On-site ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ และแบบ Online รับชมการประชุมทางไกล ผ่านระบบ ZOOM MEETING และ YouTube OBEC Channel โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบโครงการ และผู้แทนเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารและคณะครูผู้สอนจากสถานศึกษาแกนนำ จำนวน 178 แห่ง สถานศึกษาร่วมพัฒนาสังกัด สพป. สพม. และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 558 แห่ง รวมทั้งคณะทำงานส่งเสริมเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษาระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาอีกด้วย

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การพัฒนาระบบเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษา เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ที่ สพฐ. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาผ่านระบบเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสถานศึกษาร่วมพัฒนาให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นไปตามกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่เหมาะสมกับสภาพบริบทและความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและร่วมคิดร่วมพัฒนาจากสถานศึกษาแกนนำซึ่งเป็นสถานศึกษารางวัล IQA  AWARD ได้รับการยอมรับจากสถานศึกษาอื่นในสังกัด ให้เป็นผู้นำด้านการประกันคุณภาพการศึกษา และสามารถเป็นแบบอย่างเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสถานศึกษาภายในสังกัด รวมทั้งเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นจากโรงเรียนร่วมพัฒนา

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และทีมที่ปรึกษา IQA ระดับภูมิภาค ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และติดตามการดำเนินงานเป็นระยะ ส่งผลให้สถานศึกษาร่วมพัฒนาเกิดขวัญและกำลังใจ จึงคาดหวังว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการในปีงบประมาณ 2566 สถานศึกษาแกนนำจะมีความโดดเด่นในนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษา ด้านการประกันคุณภาพภายใน และการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ และสถานศึกษาร่วมพัฒนาจะมีระบบการประกันคุณภาพและกลไกการบริหารจัดการคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาตามบริบทของตนเองได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การสร้างเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษาดังกล่าวนี้ จึงเป็นกลไกที่สำคัญของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการช่วยพัฒนาสถานศึกษาในสังกัดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้อีกด้วย

“ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมและให้กำลังใจผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษาแกนนำ ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมพัฒนา และคณะทำงานส่งเสริมเครือข่ายนวัตกรรมคุณภาพสถานศึกษา ในการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามกฎกระทรวงฯ ได้อย่างแท้จริง โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพที่ลงสู่การปฏิบัติที่เห็นผลคุณภาพเกิดที่นักเรียน โรงเรียน โดยเชื่อมโยงการปฏิบัติที่ตอบทุกโจทย์ ทุก KPI เพื่อไม่ให้เป็นภาระเรื่องเอกสาร แต่ให้เห็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรมที่นักเรียน รวมทั้งเชื่อมโยงผลในระดับโรงเรียน ส่งผลคุณภาพระดับเขตพื้นที่ ต่อเนื่องไป สพฐ. จนถึงตัวชี้วัดคุณภาพเกิดทั้งประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว